BREAKING NEWS

condo living

Property

Category 7

From our Blog

New_Dolwms.dol.go.th:ค้นหาเลขที่โฉนด


Dolwms.dol.go.th:ค้นหาเลขที่โฉนด
February 02, 2018


ค้นหาเลขที่โฉนดจากแผนที่

พัฒนาต่อเนื่องจริงๆ สำหรับ web map application ซึ่งแต่ก่อนถ้าเรามีเลขที่โฉนด แต่เราไม่รู้ตำแหน่ง
ก็สามารถหาตำแหน่งที่ดิน ได้จากเว็บของกรมที่ดิน http://dolwms.dol.go.th/


มาวันนี้ พัฒนาอีกลูกเล่น นั่นคือ ถ้าเรารู้ตำแหน่งที่ดิน แต่ไม่รู้ว่าที่ดินแปลงนี้มีเลขที่โฉนดที่ดินอะไร ก็ใช้เว็บของกรมที่ดินเข้าช่วยโดย สิ่งที่เพิ่มเติมมาจากหน้าเว็บเดิม นั่นคือ

* ปรับปรุงหน้าจอใหม่
* เพิ่มระบบค้นหาเลขที่โฉนดจากสถานที่สำคัญ
* เพิ่มระบบค้นหาจากการดับเบิ้ลคลิกบนแปลงที่ดิน
* เพิ่มชั้น ผังเมือง (กทม.)
เมนูที่เพิ่มมาจากเดิมคือ เพิ่มช่องให้กรอกค้นหาตำแหน่งที่ดินจากสถานที่สำคัญ หรือจะใช้การซูมแผนที่ไปยังบริเวณที่ดินแปลงที่เราต้องการหาเลขที่โฉนด ก็ทำได้ เช่นกัน
*** ข้อแนะนำคือควรซูมแผนที่ให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้เลขที่โฉนดได้ตรงแปลงที่ดินมากที่สุด


เมื่อดับเบิ้ลคลิกบริเวณแปลงที่ดินที่จะค้นหา จะมีเส้นประสีส้ม วิ่งวนกันสักพักนึง หากบริเวณนั้นมีข้อมูลเลขที่โฉนด และรายละเอียดต่างก็จะแสดงรายะละเอียดขึ้นมาให้เรานำไปใช้งานต่อ โดยมีข้อมูลดังนี้
1. หมายเลขระวาง 2. เลขที่ดิน 3. เลขโฉนดที่ดิน 4. หน้าสำรวจ 5. ตำบล อำเภอ จังหวัด 6. เนื้อที่ดิน 7. สำนักงานที่ดิน เบอร์โทร 8. ค่าพิกัดสำนักงาน 9. ราคาประเมินรายแปลงกรมธนารักษ์ 10. ค่าพิกัดแปลง 11. ค่าใช้จ่ายในการรังวัด 12. ค่าธรรมเนียมภาษีอากร 13. คิวรังวัด 14. พื้นที่ใช้ประโยชน์ (ผังเมือง กทม.)-ตอนนี้มีข้อมูลเฉพาะของกรุงเทพมหานคร
และสามารถเปิดแผนที่ผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ซ้อนขึ้นมาทับกับแปลงที่ดินได้ โดยการใช้งานรองรับการใช้งานกับมือถือด้วยเช่นเดียวกัน


จากเดิมที่กว่าจะได้เลขที่โฉนดมา ก็ต้องมีการไปยื่นขอดูระวางที่ดินที่สำนักงานที่ดิน ไล่เลขที่ดิน เปรียบเทียบกับรูปแปลงที่เราจะค้นหา มาวันนี้ กรมที่ดิน ได้พัฒนา web application กันไปอีกขั้น งานนี้สำหรับคนที่ทำงานด้านอสังหา คงได้รับอานิสงส์กันไปเต็มๆ ทำงานง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น สมกับเป็น Thailand 4.0

(ข้อมูล​และภาพประกอบ​จาก:​ dolwms.dol.go.th: กรมที่ดิน)​​

Google My Maps : จัดเก็บข้อมูลที่ดินบน Google Map

ด้วยโลกปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีผลต่อชีวิตคนเราหลายด้าน จะสั่งอาหาร จะสั่งซื้อสินค้า ก็สั่งผ่านอินเตอร์เน็ต สั่งผ่าน app กันเยอะละ เรียกว่าชีวิตมันง่ายขึ้นเยอะ รวมถึงแผนที่ ที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนการใช้แผนที่ดาวเทียม หรือแผนที่นำทาง เป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม และยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่นับตั้งแต่ Google ก้าวเข้ามาและนำเสนอบริการแผนที่ Google Maps ก็ทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆนี้ สามารถเข้าถึงบริการการใช้งานกันง่ายขึ้น และด้วยบริการของ Google Maps นี้ Google ก็ได้ส่งเครื่องมืออีกอย่างที่ทำให้เราใช้งานแผนที่กันได้มากขึ้นนั่นคือ Google My Maps

* ตัวอย่างการประยุกต์การใช้งานนำไปจัดเก็บข้อมูลราคาซื้อขายที่ดิน
** ข้อมูลข้างต้นนำมาจาก http://www.realist.co.th/blog มาพัฒนาแผนที่ต่อ

โดยนายมนุษย์คอนโด จะแนะนำการประยุกต์การจัดเก็บข้อมูลที่ดินเพื่อนำไปใช้งานด้านอื่นๆ เช่น ส่งเป็นข้อมูลการขายของนายหน้า จัดเก็บเป็นข้อมูลที่ดินส่วนตัว จัดเก็บข้อมูลสำหรับใช้ในงานประเมินราคา หรือแล้วแต่จะนำไปใช้งานด้านอื่นๆกัน เนื่องจากการใช้เครื่องมือนี้มันเป็นผลิตภัณฑ์ของ Google ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องมีคือ email ของ google ดังนัั้นอย่าลืม sign in เข้าสู่ระบบของ google ก่อนใช้งานนะครับ

เริ่มจากเข้าสู่หน้าของแผนที่ 
google maps >>>> www.google.co.th/maps/
จากนั้นให้คลิกที่แทบ3ขีีดบริเวณมุมซ้ายบนของแผนที่

จะปรากฎเมนูดังภาพ แล้วก็เลือกเข้าที่สถานที่ของคุณ
*** กรณีที่เมนูด้านบนเป็นภาษาอังกฤษ จะเป็นเมนูYour Places”

จากนั้นให้คลิกที่แผนที่บริเวณขวาสุดของเมนู แล้วตามด้วยสร้างแผนที่
แล้วจะปรากฎหน้าแผนที่ว่างๆ ของ google maps ขึ้นมาให้เราดังรูปด้านล่างนี้ครับ
   1.หมายถึงชื่อแผนที่ เอาไว้ตั้งชื่อแผนที่ของเรา
   2.เครื่องสร้างเลเยอร์ของแผนที่
   3.เลเยอร์แผนที่ชั้นแรก(เราสามารถทำข้อมูลได้หลายข้อมูลซ้อนกัน หรือเราจะแยกเป็นแผนที่เป็นกลุ่มๆก็ได้

เรามาเริ่มทำแผนที่กันเลยครับ โดยให้เราเปลี่ยนแผนที่แบบปกติเป็นแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม
จากนั้นก็คลิกที่เครื่องมือวาดเส้น(หมายเลขที่ 1) ตามด้วยคลิกบริเวณรูปแปลงที่ดินที่เราจะจัดเก็บเป็นข้อมูล จากนั้นก็คลิกบริเวณมุมจนครบรอบแปลงที่ดิน (หมายเลขที่ 2)
จากนั้นให้เราใส่ข้อมูลที่ต้องการจัดเก็บ เช่น เลขที่โฉนด หน้าสำรวจ ระวาง ราคาประเมิน ราคาเสนอขาย

หรือเราอาจจะนำข้อมูลจากเว็บค้นหาข้อมูลแปลงที่ดินจาก http://dolwms.dol.go.th/tvwebp/ นำมาป้อนใส่

จากตัวอย่างผมสมมุติขึ้นมานะครับ หากไปตรงกับที่ดินท่านใดขออภัยด้วยครับ
(ขออนุญาติใช้เพื่อเป็นตัวอย่างนะครับ)

โดยเราสามารถปรับแต่งสีสันของเส้นกรอบและพื้นของแปลงที่ดิน หรือจะใส่ภาพประกอบด้วยก็สามารถทำได้
 โดยคลิกบริเวณไอคอนแรกบริเวณมุมขวาล่างของ Pop up windows ที่แสดงขึ้นมา

อยากเปลี่ยนสีแบบไหน อยากได้เส้นขอบหนาบางแบบไหนก็ปรับได้หมด

การเลือก รูปภาพประกอบก็สามารถใช้ภาพจากอินเตอร์เน็ต หรือจะอัพโหลดขึ้นเองก็ทำได้


เพียงเท่านี้เราก็มีแผนที่ที่ตั้งที่ดิน ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้หลากหลาย เช่น จัดเก็บแปลงข้อมูลที่ดินมรดก 
แปลงที่ดินที่เราซื้อไว้ แปลงที่ดินที่น่าสนใจ หรือแม้แต่ว่าเอาไว้ส่งข้อมูลให้กับผู้ซื้อเวลาเราขายที่ดิน

โดยการแชร์แผนที่สามารถเลือกแบบเป็นกลุ่มลับเฉพาะเราหรือเฉพาะคนที่เราอนุญาต ก็ตั้งค่าแผนที่เป็นแบบ Private
หรือจะเลือกปรับเป็นแบบอื่น Google Maps ก็มีรูปแบบการ์แชร์แผนที่ได้หลายวิธีคือ

  • On - Public on the web
คือแบบเปิดกว้าง คือใครก็สามารถเข้าถึงแผนที่นี้ได้ หรือเรียกว่าเปิดแบบสาธารณะ

  • On - Anyone with the link
            คือเปิดแชร์แผนที่เฉพาะคนที่มีลิงค์ เมื่อเราเลือกแบบนี้ Google Maps จะสร้างลิงค์แผนที่ให้เรา ให้เรา copy ไปส่งให้เฉพาะคนที่เราต้องการแชร์ โดยใครก็ตามที่มีลิงค์ก็จะสามารถเปิดแผนที่นี้ได้หมด

  • Off - Specific people
            แบบนี้คือลับเฉพาะคนรู้ใจ คือเฉพาะคนที่เราอนุญาตให้เปิดดู โดยจะใช้ email ของคนที่เราอนุญาตในการเพิ่มเข้าไปในระบบ
-----------------------------------------------------------------------
 โดยจากตัวอย่างข้างต้น ลองเข้าไปดูตัวอย่างแผนที่ทำเป็นตัวอย่างกันได้จากลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ
ไดยในครั้งต่อๆไปจะแนะนำเทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติมให้อีกครับ ติดขัดประการใด comment มาได้เลยครับ

เปลี่ยนแปลงพื้นที่ ยุบพื้นที่ และตั้งแขวง กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครออกประกาศกรุงเทพมหานครรวม 7 ฉบับ ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ยุบพื้นที่ และตั้งแขวง ใน 7 เขต ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง การบริหาร และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน 

มีผลให้พื้นที่แขวงในเขตพญาไท เขตดินแดง เขตพระโขนง เขตสวนหลวง เขตสะพานสูง เขตบางนา และเขตบางบอน มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวง 5 แขวง ยุบพื้นที่แขวงเดิม 2 แขวง และตั้งแขวงใหม่เพิ่มขึ้นมา 13 แขวง ดังต่อไปนี้


1. เขตพญาไท เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสามเสนใน (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของถนนพญาไท) และเพิ่มแขวงพญาไท (พื้นที่แขวงสามเสนในเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากตะวันตกของถนนพญาไท)

2. เขตดินแดง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงดินแดง (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนมิตรไมตรี ถนนประชาสงเคราะห์ และถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ) และเพิ่มแขวงรัชดาภิเษก (พื้นที่แขวงดินแดงเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากใต้ของถนนมิตรไมตรี ถนนประชาสงเคราะห์ และถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ)

3. เขตพระโขนง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงบางจาก (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของถนนสุขุมวิท) และเพิ่มแขวงพระโขนงใต้ (พื้นที่แขวงบางจากเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากตะวันตกของถนนสุขุมวิท)

4. เขตสวนหลวง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสวนหลวง (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของคลองพระโขนง และฟากตะวันตกของคลองลาว-คลองจวน) และเพิ่มแขวงอ่อนนุช (พื้นที่แขวงสวนหลวงเดิม เฉพาะคลองและพื้นที่ฟากใต้ของคลองตัน-คลองพระโขนง-คลองประเวศบุรีรมย์) และแขวงพัฒนาการ (พื้นที่แขวงสวนหลวงเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของคลองลาว-คลองจวน และฟากเหนือของคลองพระโขนง)

5. เขตสะพานสูง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสะพานสูง (คงเหลือเฉพาะถนนและพื้นที่ฟากตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก และฟากเหนือของคลองวังใหญ่) และเพิ่มแขวงราษฎร์พัฒนา (แขวงสะพานสูงเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก และฟากเหนือของคลองวังใหญ่-คลองทับช้างล่าง) และแขวงทับช้าง (แขวงสะพานสูงเดิม เฉพาะพื้นที่คลองและฟากใต้ของคลองวังใหญ่-คลองทับช้างล่าง)

6. เขตบางนา ยกเลิกแขวงบางนา และเพิ่มแขวงบางนาเหนือ (พื้นที่แขวงบางนาเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนสรรพาวุธ-ถนนบางนา-ตราด-ทางพิเศษบูรพาวิถี) และแขวงบางนาใต้ (พื้นที่แขวงบางนาเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากเหนือของถนนสรรพาวุธ-ถนนบางนา-ตราด-ทางพิเศษบูรพาวิถี)


7. เขตบางบอน ยกเลิกแขวงบางบอน และเพิ่มแขวงบางบอนเหนือ (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนเอกชัย และถนนและฟากตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก) แขวงบางบอนใต้ (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากใต้ของถนนเอกชัย และถนนและฟากตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก) แขวงคลองบางพราน (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนเอกชัย และฟากตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก) และแขวงคลองบางบอน (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากใต้ของถนนเอกชัย และฟากตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก)

ที่มา : 
กองสำรวจและแผนที่ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร

sum of money : “เงินก้อน” ไม่มีให้เก็บ


อิสระภาพทางการเงิน เป็นคำยอดฮิตของคนยุคโซเชี่ยลออนไลน์ เป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่ต้องการ เราเลยเห็นคนยุคนี้ ต่างดิ้นรนขวนขวายในการสร้างรายได้กันมากมายหลายทาง สังเกตได้ง่ายจากหน้าเฟสบุคของเรา เกือบครึ่ง เป็นเรื่องงานขายของ ขายเสื้อผ้า รองเท้า ครีมหน้าขาว อาหารเสริมลดความอ้วน ครีมอกฟู รูฟิต บลา บลา..ฯ ซึ่งต่างอวดอ้างสรรพคุณเกทับกันไป เกทับกันมา เชื่อไหมครับ ส่วนใหญ่ก็มาจากโรงงานผลิตเดียวกัน แถมบางครั้ง ไอ้ที่ราคาต่างกันของถูกกับของแพง ส่วนผสมก็ตัวเดียวกัน ต่างกันที่วัสดุห่อหุ้มผลิตภัณฑ์

อ่ะ แล้วยี่ห้อไหนมันจะดีไปกว่ากันได้ คนนั้นก็ขาย คนนี้ก็ขาย ก็มีแต่คนสั่งมาขาย ฝากร้าน กันพรึบ สุดท้ายคนที่ได้เงิน ก็คือเจ้าของโรงงานผลิต 


เฮ้อ ! แล้ว มนุษย์เงินเดือน เดินดินกินข้าวแกงอย่างเราจะทำอย่างไร
มนุษย์เงินเดือน ชื่อก็บอกแล้ว ว่า “มนุษย์” รวมกับ “เงินเดือน” หรืออีกความหมาย คือ “มนุษย์” ที่มีเงินใช้ “เดือนชนเดือน” เงินนะหรือจะมีเหลือเก็บ ยิ่งในโลกยุคนี้ด้วยแล้ว ยุคที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นเร็วปรี๊ด (ยุคค่าครองชีพ 4G)
ยุคที่เราซื้อน้ำใส่ขวด (ผสมน้ำตาลเติมสีเติมกลิ่น แล้วบอกว่าเพื่อสุขภาพ) แพงกว่าราคาน้ำมันรถ 
ยุคที่เราต้องกินของแพงๆ แล้วถ่ายรูปแชร์ลงโซเชี่ยล เพื่อให้เพื่อนๆ เราเห็น แล้วจะมีเงินส่วนไหนไปเหลือเก็บกันได้
ถ้าในวัยที่เรายังมีเรี่ยวแรงหักโหมทำงาน เพื่อทำให้เรามีรายได้ (เพื่อให้เจ้านายรวย) แล้วยังไม่มีเงินเหลือเก็บ ก็อย่าหวังเลยว่า ในวันที่วัยชรามาถึง จะมีแรงหลงเหลือไปทำงานเลี้ยงชีพตัวเอง เพื่อต่อสู้กับค่าครองชีพที่อนาคต เราไม่รู้ว่าน้ำดื่มขวดนึงจะทะลุไปถึงร้อยบาทหรือไม่

จากสมการการเงิน 
รายได้ – รายจ่าย + ผลตอบแทนอื่นๆ = เงินก้อน (ที่จะเหลือเก็บ)
ถ้าเราบอกว่า รายได้ – รายจ่าย = เข้าใกล้ศูนย์บาท
ดังนั้นก็ฟันธงแบบหมอเดาได้เลยว่า เงินก้อนที่จะเหลือเก็บ และ ผลตอบแทนอื่นๆ ก็เข้าใกล้ศูนย์บาทเช่นเดียวกัน
ถ้าเมื่อหนทางหารายได้ก็ไม่มี ขายของออนไลน์ จะอกฟู รูฟิต หรือครีมหน้าขาว ก็ขายไม่เป็น 
เมื่อรวมๆ แล้ว รายได้ ก็คือเงินเดือนปกติ
สิ่งที่ต้องไปดูต่อก็คือ รายจ่าย เพราะถ้าเราสามารถทำให้รายจ่ายลดลง นั่นก็หมายถึงว่าหนทางที่จะนำเงินไปลงทุนสร้างรายได้ต่อ หรือนำไปเป็นเงินเก็บ ก็จะมีมากขึ้น
รายจ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าห้องพัก ค่าของใช้ส่วนตัว ค่ากาแฟ ค่าการตลาดสร้างภาพในโซเชี่ยล และอื่นๆ อีกมากมาย ฯ 
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อะไรที่เราปรับลดได้ก็ลองปรับกันดู อาจจะกินกาแฟติดแอร์ มีแบรนด์ ให้น้อยลง หันไปทานกาแฟรถเข็นกันบ้าง ลดการกินอาหารแพงๆ ลดค่าการตลาดสร้างภาพ(ตัวเรา) ในโซเชี่ยล ก็คงทำให้เราพอมีเงินเก็บหลงเหลือกันบ้าง
แต่ถ้าสุดท้าย ทำครบถ้วนกระบวนความ สมการการเงินของคุณ ก็ยังคงเป็น 
รายได้ – รายจ่าย = เข้าใกล้ศูนย์บาท 
หรือเหลือไม่มากที่จะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนอย่างอื่นได้
ก็อย่าเพิ่งสั้นหวังกันไป ลองหันมาใช้วิธีนี้กันดู

รายจ่ายส่วนใหญ่เป็นต้นทุนทางตรง หรือต้นทุนที่ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องจ่ายมัน 
ฉะนั้นเราก็ไปทำให้รายจ่ายนั้น มาทำรายได้ให้กับเรากันดีกว่า

ถ้าวันนี้ รายจ่ายส่วนหนึ่งของคุณคือ ค่าเช่าห้องพัก ยินดีด้วยคุณได้ไปต่อ เพราะเราจะบอกว่า ค่าเช่าห้องพักนี่ละ สามารถสร้างรายได้ให้กับเรา โดยไม่ต้องไปเรียนรู้หลักการลงทุนอะไรมากมาย ไม่ต้องไปนั่งจิ้มกดจอ รอดูการขึ้นลงของกราฟ เส้นสีเขียวสีแดงใดๆ เราก็ใช้ชีวิต มนุษย์เงินเดือน ของเรา สร้างเงินที่ใช้เดือนชนเดือนเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือเปลี่ยนจากค่าเช่าที่พักอพาร์ทเมนต์ เป็น เงินผ่อนคอนโดกับธนาคารแทน เชื่อไหมว่า ธนาคารหลายแห่งก็ยินดีให้เรายืมเงินก้อนไปซื้อคอนโด โดยที่เราไปผ่อนใช้หนี้ธนาคารทีหลัง (แหม ธนาคารนี่ ใจดีกับเราจริงๆ )

คอนโด เป็นอาคารพักอาศัย ที่มีรูปแบบคล้ายอพาร์ทเมนต์ แตกต่างตรงที่อพาร์ทเมนต์ มีเจ้าของคนเดียว แต่คอนโดมีเจ้าของหลายคน อีกทั้งคอนโดเป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างนึง ที่มีความสามารถพิเศษกว่าทรัพย์ประเภทอื่นๆ คือ มูลค่าหรือราคาของมันจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป (มากน้อยตามทำเลที่ตั้ง) ทั้งนี้หากในสภาวะปกติ จากสถิติของอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเรา จะปรับตัวสูงขึ้น 3% – 10% (แล้วแต่ทำเล) 

นั่นคือ ถ้าปีนี้เราซื้อคอนโดในราคา 1 ล้านบาท เมื่อเวลาผ่านไปสัก 5 ปี คอนโดหลังเดียวกันนี้ก็จะมีมูลค่าประมาณ 1.2 – 1.5 ล้าน 

โดยปัจจุบัน คอนโดราคา 1 ล้านบาท เราจะผ่อนธนาคารที่ประมาณ 6,500 - 7,000 บาทต่อเดือน โดยในเงินจำนวนนี้ส่วนนึงเป็นค่าดอกเบี้ย ที่ธนาคารคิดเป็นค่าดำเนินการในการออกเงินก้อนให้เรากู้ยืมซื้อคอนโด และอีกส่วนเป็นเงินต้นที่นำไปลดยอดเงินกู้ยืมซื้อคอนโด เมื่อเวลาผ่านไปเงินกู้ยืมนี้ก็จะลดลงตามเงินที่เราจ่ายให้ธนาคาร ซึ่งในขณะเดียวกัน มูลค่าคอนโดก็จะปรับราคาเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงว่า ถ้าเรานำคอนโดนั้นไปขายต่อ ก็จะได้ราคามากกว่าที่เราซื้อมาตอนแรก 

ตัวอย่างเช่น

ถ้าเรากู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อคอนโดแห่งหนึ่งมาในราคา 1 ล้านบาท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และปัจจุบันกำลังจะขายต่อ ด้วยราคาซื้อ-ขายคอนโดปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยเหลือหนี้คงค้างจากการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารประมาณ 8 แสนบาท

ดังนั้นราคาขายปัจจุบันเท่ากับ 1,500,000.- บาท ลบด้วยเงินกู้ยืมธนาคาร 800,000.- บาท จะมีส่วนต่างราคาอยู่ที่ประมาณ 700,000.- บาท และด้วยเงินของส่วนต่างราคานี้ จะเป็นผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากการที่เปลี่ยนจากเงินค่าเช่าห้องพักอพาร์ทเมนต์ มาเป็นเงินผ่อนธนาคารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 


ทั้งนี้เราก็ยังนำค่าดอกเบี้ยที่จ่ายให้ธนาคาร นำไปเป็นส่วนลดเงินได้(ที่ไม่ค่อยจะมี) ในการยื่นภาษีประจำปีอีกด้วย

มนุษย์เงินเดือนทั่วไป มีเงินใช้แค่เดือนชนเดือนเหมือนคนอื่นๆ ก็สามารถสร้างรายได้ และมีเงินเก็บเป็นก้อน(เล็กๆ) หรือนำไปลงทุนต่อเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม โดยที่ไม่ได้ไปเรียนรู้หลักการลงทุนอะไร ใช้ชีวิตทำงานกินเงินเดือนเหมือนเดิม แต่วันนี้มี income เพิ่มเพราะทำหนี้ไว้เมื่อวาน

Indoor Maps-2 : เคล็ดลับ การใช้ Here Map กับ Floor Plan อาคาร

เคล็ดลับ การใช้ Here Map กับ Floor Plan อาคาร (indoor maps)
-----------------------------------------

จากครั้งก่อนเราได้แนะนำ

เคล็ดลับ การใช้ Google Map กับ Floor Plan อาคาร (indoor maps)

ซึ่งนอกจาก Google Maps ที่มีแผนที่ indoor maps ก็ยังมีแผนที่ออนไลน์อีกหนึ่งเจ้าที่มีลูกเล่นนี้ นั่นคือ Here Maps แต่จากที่ทดลองใช้ เหมือนจะใช้ได้บางอุปกรณ์ จากที่ลองใช้ Iphone 5s กับ Nokia XL ผมไม่สามารถใช้ลูกเล่นนี้ได้ แต่ใช้ Nexus7 (2012) ก็จะสามารถใช้ลูกเล่นนี้
โดยปกติแล้ว สามารถใช้บริการของแผนที่ Here Maps ได้จาก https://maps.here.com

จากการที่ทดลองใช้ ผมไม่สามารถใช้ Indoor Maps ผ่านเว็บไซด์ได้ แต่จากการติดตั้ง Apps Here Maps ใน Tablet  ถึงจะสามารถใช้ 

หน้าตาของ Application ก็เหมือน App แผนที่ทั่วๆไป
มีแผนที่แบบภาพถ่ายดาวเทียมและ สามารถนำทาง พร้อมบอกสภาพการจราจรได้เหมือนกับ Google Maps เช่นเดียวกัน


การเข้าสู่โหมดของ Indoor Maps ก็คล้ายๆ กับทาง Google Maps  แต่ของ Here Maps จะมีลักษณะเป็นแผนที่ 3D มี Model อาคารแสดงในแผนที่ (ของ Google มี Model อาคารแสดงในโรแกรม Google Earth) 


เมื่อ zoom แผนที่เข้าไปใกล้ๆ ตัวอาคาร จะเห็น icon แสดงเมนู "เข้าข้างใน" เพื่อข้าสู่โหมดของ Indoor Maps ของ Here Maps  (จากรูปเป็นศูนย์การค้า Central Grand Rama9)


เมื่อเข้าสู่โหมด Indoor Maps ก็จะมีเมนูของระดับชั้นแสดงขึ้นมา โดยตัวแผนที่อาคารจะแสดงเป็นแบบ 3D โดยสามารถหมุนอาคารกลับไปกลับมาได้ (รู้สึกดีกว่าของ Google Maps)  การใช้งานก็เหมือนกัน คืออยากไปชั้นไหนก็กดที่เลขชั้นเหมือนกับการกดลิฟต์ เช่นเดียวกับ Google Maps Indoor Maps

กดไปชั้น B


กดไปชั้น 2



กดไปชั้น 5


โหมด Indoor Maps มีรองรับในหลายๆอาคาร 

ศูนย์การค้า Central World 


ศูนย์การค้า The Mall - บางกะปิ



ศูนย์การค้า Central Plaza Airport Chaingmai 


โดยรวมการแสดงผล ทำได้ดี แต่อาจจะมีข้อมูลน้อยกว่าทางฝั่งของ Google และมีข้อจำกัดทางใช้งานที่ไม่สามารถใช้ได้ทุกอุปกรณ์ แต่สำหรับคนที่มีอุปกรณ์รองรับ ก็ถือว่า  Here Map  เป็นทางเลือกของการใช้งานอีกทางหนึ่ง และช่วยให้การเดินห้างของเราสนุกและง่ายขึ้น ^^

ไปห้างไม่มีหลง จะหาร้านไหนก็ค้นง่ายด้วย Indoor Map จาก Google Map


เคล็ดลับ การใช้
Google Map กับ Floor Plan อาคาร (indoor maps)
-----------------------------------------
เคยไหมครับ ที่เวลาเราไปห้างหรือศูนย์การค้าต่างๆ ที่บางครั้งเราต้องไปเดินหาผังชั้น หรือคอยไปถามประชาสัมพันธ์ว่า shop นั้นอยู่ที่ไหน ชั้นไหน ซื่งบางครั้งก็ต้องเสียเวลาเดินไปวนมาอยู่หลายเที่ยว ซึ่งตอนนี้ Google Map ได้พัฒนาเข้ามารองรับถึงรายละเอียด floor plan ในอาคารกันแล้ว(ใช้ชื่อว่า indoor maps) โดยไม่ได้มีรายละเอียดแค่ชั้นเดียว งานนี้มีรายละเอียดกันครบทุกชั้น ถ้าไม่เชื่อ งั้น เดี๊ยวพาไปดูกันดีกว่า



ยกตัวอย่าง ถ้าผมจะไปร้านซีเอ็ด ที่เซนทรัล แกรนด์ พระราม 9 คราวนี้ผมมีวิธีลัดครับ เริ่มจากค้นหา 
"ซีเอ็ด เซนทรัล พระราม9" จาก Google


จากนั้น ก็คลิกตรงคำว่าแผนที่ หากเรามี Google Map อยู่แล้ว มันจะเปิด App แผนที่ Google Map ชึ้นมาทันที


จากนั้นให้คลิกที่ ร้าน  SE-ED และลองเลือนไปด้านล่างจะพบ Layout ของบริเวณที่ร้านซีเอ็ดตั้งอยู่

เมื่อคลิกเข้าไปที่ แผนที่ (indoor map) ก็จะบอกถึงรายละเอียดของผังชั้นว่าในแต่ละ shop มีร้านอะไรอยู่ตรงไหน
ซึ่งไม่ได้มีแค่ชั้นเดียวเหมือนแผนที่ปกติ โดยสังเกตุได้จากจะมีแทบชั้นขึ้นด้านข้าง 


การใช้งานเหมือนลักษณะเวลาเรากดลิฟต์ จะไปชั้นไหนก็กดที่เมนูไปที่ชั้นนั้นๆ เช่น
ลองคลิกไปที่ชั้น B ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในแผนที่ ซึ่งมันจะเปลี่ยนเป็น layout ของชั้น B 

กดไปที่ชั้น 2

กดไปที่ชั้น 5

นอกจากตำแหน่งของร้านต่างแล้ว ใน indoor map นี้ ก็ยังบอกถึง ตำแหน่งบันไดเลื่อน, ลิฟต์ , ATMรวมถึงห้องน้ำ



ซึ่งนอกจากที่นี่แล้ว ในหลายๆ ศูนย์การค้า ก็เริ่มมี Google indoor map ให้ใช้กันแล้ว
เช่น เดอะมอลล์ บางกะปิ

เซ็นทรัล เวิลด์

สยาม พารากอน

โดย Google indoor map สามารถใช้ผ่าน  App หรือจะใช้ผ่าน Brower ของ
 https://www.google.co.th/maps ก็ได้เช่นเดียวกันครับ

ลองใช้งานกันดู และหากสถานที่ไหนที่อยากเผยแพร่ข้อมูลก็ส่งไปให้ Google เขาได้ทาง https://www.google.com/maps/about/partners/indoormaps/ 
ซึ่งแน่นอนว่าคงเป็นสถานที่ที่ไม่ได้มีความลับอะไรนะครับ 

Copyright © 2014 Life Sabuy , คอนโดมิเนียม , คอนโด , ราคาประเมิน, ซื้อคอนโด, ราคาคอนโด, ขายคอนโด
www.lifesabuy.com