BREAKING NEWS

condo living

Property

Category 7

From our Blog

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Property แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Property แสดงบทความทั้งหมด

เปลี่ยนแปลงพื้นที่ ยุบพื้นที่ และตั้งแขวง กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครออกประกาศกรุงเทพมหานครรวม 7 ฉบับ ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ยุบพื้นที่ และตั้งแขวง ใน 7 เขต ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง การบริหาร และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน 

มีผลให้พื้นที่แขวงในเขตพญาไท เขตดินแดง เขตพระโขนง เขตสวนหลวง เขตสะพานสูง เขตบางนา และเขตบางบอน มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวง 5 แขวง ยุบพื้นที่แขวงเดิม 2 แขวง และตั้งแขวงใหม่เพิ่มขึ้นมา 13 แขวง ดังต่อไปนี้


1. เขตพญาไท เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสามเสนใน (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของถนนพญาไท) และเพิ่มแขวงพญาไท (พื้นที่แขวงสามเสนในเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากตะวันตกของถนนพญาไท)

2. เขตดินแดง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงดินแดง (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนมิตรไมตรี ถนนประชาสงเคราะห์ และถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ) และเพิ่มแขวงรัชดาภิเษก (พื้นที่แขวงดินแดงเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากใต้ของถนนมิตรไมตรี ถนนประชาสงเคราะห์ และถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ)

3. เขตพระโขนง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงบางจาก (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของถนนสุขุมวิท) และเพิ่มแขวงพระโขนงใต้ (พื้นที่แขวงบางจากเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากตะวันตกของถนนสุขุมวิท)

4. เขตสวนหลวง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสวนหลวง (คงเหลือเฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของคลองพระโขนง และฟากตะวันตกของคลองลาว-คลองจวน) และเพิ่มแขวงอ่อนนุช (พื้นที่แขวงสวนหลวงเดิม เฉพาะคลองและพื้นที่ฟากใต้ของคลองตัน-คลองพระโขนง-คลองประเวศบุรีรมย์) และแขวงพัฒนาการ (พื้นที่แขวงสวนหลวงเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของคลองลาว-คลองจวน และฟากเหนือของคลองพระโขนง)

5. เขตสะพานสูง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสะพานสูง (คงเหลือเฉพาะถนนและพื้นที่ฟากตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก และฟากเหนือของคลองวังใหญ่) และเพิ่มแขวงราษฎร์พัฒนา (แขวงสะพานสูงเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก และฟากเหนือของคลองวังใหญ่-คลองทับช้างล่าง) และแขวงทับช้าง (แขวงสะพานสูงเดิม เฉพาะพื้นที่คลองและฟากใต้ของคลองวังใหญ่-คลองทับช้างล่าง)

6. เขตบางนา ยกเลิกแขวงบางนา และเพิ่มแขวงบางนาเหนือ (พื้นที่แขวงบางนาเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนสรรพาวุธ-ถนนบางนา-ตราด-ทางพิเศษบูรพาวิถี) และแขวงบางนาใต้ (พื้นที่แขวงบางนาเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากเหนือของถนนสรรพาวุธ-ถนนบางนา-ตราด-ทางพิเศษบูรพาวิถี)


7. เขตบางบอน ยกเลิกแขวงบางบอน และเพิ่มแขวงบางบอนเหนือ (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนเอกชัย และถนนและฟากตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก) แขวงบางบอนใต้ (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากใต้ของถนนเอกชัย และถนนและฟากตะวันตกของถนนกาญจนาภิเษก) แขวงคลองบางพราน (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะพื้นที่ฟากเหนือของถนนเอกชัย และฟากตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก) และแขวงคลองบางบอน (พื้นที่แขวงบางบอนเดิม เฉพาะถนนและพื้นที่ฟากใต้ของถนนเอกชัย และฟากตะวันออกของถนนกาญจนาภิเษก)

ที่มา : 
กองสำรวจและแผนที่ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร

ไปห้างไม่มีหลง จะหาร้านไหนก็ค้นง่ายด้วย Indoor Map จาก Google Map


เคล็ดลับ การใช้
Google Map กับ Floor Plan อาคาร (indoor maps)
-----------------------------------------
เคยไหมครับ ที่เวลาเราไปห้างหรือศูนย์การค้าต่างๆ ที่บางครั้งเราต้องไปเดินหาผังชั้น หรือคอยไปถามประชาสัมพันธ์ว่า shop นั้นอยู่ที่ไหน ชั้นไหน ซื่งบางครั้งก็ต้องเสียเวลาเดินไปวนมาอยู่หลายเที่ยว ซึ่งตอนนี้ Google Map ได้พัฒนาเข้ามารองรับถึงรายละเอียด floor plan ในอาคารกันแล้ว(ใช้ชื่อว่า indoor maps) โดยไม่ได้มีรายละเอียดแค่ชั้นเดียว งานนี้มีรายละเอียดกันครบทุกชั้น ถ้าไม่เชื่อ งั้น เดี๊ยวพาไปดูกันดีกว่า



ยกตัวอย่าง ถ้าผมจะไปร้านซีเอ็ด ที่เซนทรัล แกรนด์ พระราม 9 คราวนี้ผมมีวิธีลัดครับ เริ่มจากค้นหา 
"ซีเอ็ด เซนทรัล พระราม9" จาก Google


จากนั้น ก็คลิกตรงคำว่าแผนที่ หากเรามี Google Map อยู่แล้ว มันจะเปิด App แผนที่ Google Map ชึ้นมาทันที


จากนั้นให้คลิกที่ ร้าน  SE-ED และลองเลือนไปด้านล่างจะพบ Layout ของบริเวณที่ร้านซีเอ็ดตั้งอยู่

เมื่อคลิกเข้าไปที่ แผนที่ (indoor map) ก็จะบอกถึงรายละเอียดของผังชั้นว่าในแต่ละ shop มีร้านอะไรอยู่ตรงไหน
ซึ่งไม่ได้มีแค่ชั้นเดียวเหมือนแผนที่ปกติ โดยสังเกตุได้จากจะมีแทบชั้นขึ้นด้านข้าง 


การใช้งานเหมือนลักษณะเวลาเรากดลิฟต์ จะไปชั้นไหนก็กดที่เมนูไปที่ชั้นนั้นๆ เช่น
ลองคลิกไปที่ชั้น B ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในแผนที่ ซึ่งมันจะเปลี่ยนเป็น layout ของชั้น B 

กดไปที่ชั้น 2

กดไปที่ชั้น 5

นอกจากตำแหน่งของร้านต่างแล้ว ใน indoor map นี้ ก็ยังบอกถึง ตำแหน่งบันไดเลื่อน, ลิฟต์ , ATMรวมถึงห้องน้ำ



ซึ่งนอกจากที่นี่แล้ว ในหลายๆ ศูนย์การค้า ก็เริ่มมี Google indoor map ให้ใช้กันแล้ว
เช่น เดอะมอลล์ บางกะปิ

เซ็นทรัล เวิลด์

สยาม พารากอน

โดย Google indoor map สามารถใช้ผ่าน  App หรือจะใช้ผ่าน Brower ของ
 https://www.google.co.th/maps ก็ได้เช่นเดียวกันครับ

ลองใช้งานกันดู และหากสถานที่ไหนที่อยากเผยแพร่ข้อมูลก็ส่งไปให้ Google เขาได้ทาง https://www.google.com/maps/about/partners/indoormaps/ 
ซึ่งแน่นอนว่าคงเป็นสถานที่ที่ไม่ได้มีความลับอะไรนะครับ 

ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 3 -

- ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 3 -



    ภาคต่อจาก การ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2 -  ที่ทาง lifesabuy ได้นำเสนอไปในครั้งก่อนนั้น เนื่องจากล่าสุด ( มิ.ย.2558) เว็บไซด์ของกรมที่ดิน http://dolwms.dol.go.th/ ได้เกิดปัญหาขัดข้อง ไม่สามารถใช้งานมาช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เราไม่สามารถใช้งานการเช็คตำแหน่งที่ตั้งของที่ดิน จากเว็บไซด์ แต่ถึงอย่างไร วันนี้เราจะมาแนะนำเว็บไซด์อีก เว็บไซด์ ที่สามารถใช้งานทดแทนได้ เพราะใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน เพียงแต่เป็นของหน่วยงาน กรมธนารักษ์ โดยมีชื่อระบบว่า


เป็นเว็บไซด์แผนที่ดิจิตอล ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

 



    การใช้งานก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ คล้ายๆ กับ ทางเนื้อหาของ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2 - นั่นคือ ป้อนชื่อจังหวัด อำเภอที่ตั้งของโฉนดที่ดิน ตามที่ปรากฏอยู่ตามหน้าเอกสาร และตามเลขที่โฉนดที่ดิน จากนั้นก็ใช้เม้าส์คลิกบริเวณปุ่ม ค้นหา  หากโฉนดที่ดินนั้นๆ มีอยู่ในฐานข้อมูลที่ดินของกรมที่ดิน แผนที่ก็จะเปลี่ยนไปยังตำแหน่งที่ตั้งของแปลงที่ดินนั้น



ตัวอย่าง



      จากรูปผมลองใส่เลขที่โฉนดตามที่นึกได้ลงไปครับ ข้อมูลที่เกี่ยวกับที่ดิน เช่น รอบบัญชีราคาประเมิน, เลขที่โฉนด, หน้าสำรวจ, เลขที่ดิน, เลขที่ระวาง พร้อมแสดงราคาประเมินราชการที่หน่วยงานของ กรมธนารักษ์ ได้ทำการประเมินไว้ แสดงไว้ให้ด้วย พร้อมทั้งยังสามารถตรวจสอบราคาประเมินราชการย้อนหลังได้ด้วย (ราคาประเมินราชการใช้ในการทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดิน)


      
       เช่นเดียวกันกับที่นำเสนอไปในครั้งก่อน  - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2   นั่นคือ      การค้นหาตำแหน่งนี้ใช้เพื่อการค้นหาเบื้องต้นนะครับ อาจจะมีการคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้สามารถสอบถามราคาประเมิน โทร. 02 142 2456-7 สอบถามวิธีการใช้งานระบบ โทร. 02 615 8900-4 ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมธนารักษ์ 

      ถือเป็นการริเริ่มที่ดี ที่พยายามให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นแบบนี้ ได้จากเว็บไซด์ ลองใช้งานกันดู ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยหรืออยากปรึกษาการค้นหาแปลงที่ดิน สามารถเมลล์มาสอบถามได้ที่ admin ได้ครับ

แสดงความคิดเห็น

ก่อสร้างและที่ดิน..เจาะทำเลชั้นใน

ก่อสร้างและที่ดิน..เจาะทำเลชั้นใน

สังเกตดูโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวไปแล้วในครึ่งปีหลัง และมีแผนจะเปิดตัวจากนี้ไปถึงสิ้นปี 2557 จะพบแนวโน้มบางประการที่น่าสนใจ



นั่นคือโครงการที่เปิดตัวใหม่เหล่านี้ จะกระชับพื้นที่เข้าไปในบริเวณเขตชั้นในหรือ CBD ของกรุงเทพฯ

ที่ดินเปล่าที่ยังไม่ได้พัฒนาที่หลงเหลืออยู่ไม่มาก ถูกบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซื้อไปทำโครงการกันแทบหมดเกลี้ยง แม้แต่ที่ดินที่รูปแปลงไม่สวยนัก หรือเป็นโจทย์ยากเพราะต้องเจาะช่องเปิดทางเข้าออก หรือเจรจาที่ดินแปลงข้างเคียง แม้กระทั่งสละที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ เพื่อได้สิทธิเป็นที่ดินเชื่อมถนนใหญ่หลายทาง ทำให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงได้

เรียกว่า กว่าจะได้ที่ดินดิบมาทำโครงการต้องใช้นายหน้านักเจรจากับเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้องระดับยอดฝีมือ ต้องใช้นักกฎหมายหรือคนติดต่อหน่วยงานราชการระดับเซียน และต้องใช้สถาปนิกระดับเทพ กันเลยทีเดียว

ทิศทางการพัฒนาโครงการบ้าน คอนโดมิเนียม ทิศทางหนึ่ง แผ่ออกไปรอบนอกเป็นโครงการบ้านเดี่ยวในปริมณฑล เป็นโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและมีแผนดำเนินโครงการ

อีกทิศทางหนึ่ง กระชับย้อนเข้ามาเป็นโครงการทาวน์โฮมในพื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพฯ และที่กำลังเป็นกระแสใหม่ในเวลานี้คือ กระชับเข้ามาในเขตชั้นในริมแม่น้ำเจ้าพระยา กับกระชับเข้ามาในเขตชั้นในธุรกิจหรือ CBD

เหตุผลที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์หันมาขึ้นโครงการในเขตชั้นในและระดับราคาสูงในช่วงเวลานี้ ก็เพราะกำลังซื้อระดับสูงยังแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจจะไม่นิ่ง แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังมีรายได้เพียงพอที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีระดับ ดังจะเห็นว่าคอนโดมิเนียมระดับราคาล้านต้นๆ จะเงียบๆ ไป แต่คอนโดมิเนียมระดับราคาตารางเมตรละแสนกว่าบาทถึงสองแสนบาทยังฉลุย

ยิ่งปัญหาจราจรรถติดของกรุงเทพฯ รุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ แม้แต่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนบนดิน ใต้ดิน แอร์พอร์ตลิ้งก์ก็แน่นจนไม่มีที่ให้แทรกเข้าไปในเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น ก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้คนหันมาซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองใกล้ที่ทำงาน ใกล้แหล่งพบปะติดต่อผู้คน

ด้วยประการฉะนี้ ราคาที่ดินในเขตชั้นในจึงมีราคาซื้อขายสูงสุดทำลายสถิติใหม่กันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดก็ไปถึงตารางวาละ 1.7 ล้านบาท

และไม่รู้ด้วยประการไฉน กฎควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงในหลายพื้นที่ จึงถูกแก้ไข ยกเลิกไป ให้สามารถสร้างตึกสูงได้ (ฮา)

The Bangkok Mall, The Grand Metropolis

The Bangkok Mall, The Grand Metropolis -

   เปิดตัวแถลงข่าวกันไปแล้วนะครับ กับโครงการศูนย์การค้าแห่งใหม่ของ กลุ่มเดอะมอลล์ ที่ได้คว้าที่ดินแปลงงามบริเวณแยกบางนาไปเป็นที่เรียบร้อย โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการศุนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่มีชื่อว่า "The Bangkok Mall, The Grand Metropolis"
   เป็น    Mega Project  อีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตามองของวงการศูนย์การค้าที่เจ้าตลาดอีกเจ้ามาพัฒนาโครงการ หลังจากที่กลุ่มเซ็นทรัลเพิ่งเปิด "เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่". บริเวณถนนวิทยุไปได้ไม่นาน 
   และเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่จะทำให้ทำเลบริเวณสี่แยกบางนา. ได้พัฒนาความเจริญขึ้นไปอีกพอสมควร เชื่อได้เลยว่าตอนนี้  เหล่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คงเรื่มติดต่อหาซื้อที่ดินเพื่อมาพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยเป็นแน่แท้ ิ ด้วยระบบขนส่งมวลชนเองก็มีพร้อม อย่างรถไฟฟ้า BTS (สายสีเขียว) เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ อีกทั้งที่ดินฝั่งตรงข้ามที่เป็นศูนย์การประชุมไบเทคบางนา ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา เฟส2. ที่จะมีทั้งศูนย์ประชุมและอาคารสำนักงาน ที่จะยิ่งกระตุ้นความเจริญของบางนาขึ้นไปอีก. จึงทำให้วันนี้โซนบางนา จัดว่าป็นอีกหนึ่งทำเลที่น่าสนใจในการเลือกที่อยู่อาศัยเพื่อพักอาศัยหรือเพื่อการลงทุนอีกหนึ่งทำเล



















New CBD. Bangkok

- New CBD Bangkok-


ภาพประกอบ : Google Map

    ช่วงหลังๆ 2-3 ปีที่ผ่านมา บริเวณแยกถนนพระราม 9 - รัชดา ฯ มีการเปลี่ยนแปลงแบบที่ว่าเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะยิ่งหลังจากที่ กลุ่ม Central ทำการเปิดศูนย์การค้า Central - Grand Rama 9 ก็มีโครงการที่อยู่อาศัย อย่างเช่น คอนโดมิเนียม เปิดตัวกันเป็นสิบ โครงการ เช่น

  1. Ideo Mobi Rama 9
  2. Condolette midst rama 9
  3. Aspire Rama 9
  4. Rhythm-Asoke
  5. TC Green Condo
  6. Lumphini Park -Rama 9 - Ratchada
  7. Noble Revolve - Ratchada 1
  8. Noble Revolve - Ratchada 2
  9. Ivy Ratchada Condominium
  10. Aspace ID Asoke-Ratchada
  11. Casa Condo Asoke-Dindaeng
เหล่านี้ คือ โครงการคอนโด ที่ทยอยเปิดตัวตามๆ กันมา ส่วนราคาก็มีตั้งแต่หลักหมื่นปลาย-แสนบาทขึ้นต่อตารางเมตร ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึง Belle Avenue @ Rachada-Rama 9 ที่มีราคาช่วงเปิดตัวประมาณ  5หมื่นกว่าบาทต่อตารางเมตร มาปัจจุบันที่อาคารก่อสร้างแล้วเสร็จ ราคาขายก็ขยับไป 7-8 หมื่น บาทต่อตารางเมตรเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งรวมๆ กันกว่าสิบโครงการนี้ ก็จะมีจำนวนห้องชุดหลายหมื่นยูนิต ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ แต่นี่เป็นเพียงอาคารชุดอยู่อาศัยที่เพิ่งเปิดขึ้นใหม่ไม่นาน ยังมี อาคารอีกประเภทหนึ่งที่เข้ามาในพื้นที่บริเวณ รัชดา-พระราม 9 นี้ และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ คือ โครงการอาคารสำนักงาน ซึ่งหากนับๆ ดู ก็ไม่ได้น้อยกว่า อาคารชุุดอยู่อาศัยซักเท่าไหร่  เราไปลองนับกันดูครับว่ามีโครงการอะไรบ้าง

  1. G Land Tower - Rama 9
  2. Unilever Towers
  3. AIA Capital Center
  4. Stock Exchange - Capital Market Center - Ratchada
และในนี้ยังมีส่วนของอาคาร CP Tower 2 - Ratchada ที่ได้มีการปรับปรุงภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ เจ้าถิ่งเดิม ที่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม 

สิ่งเหล่านี้ มีผลทำให้ ถนนรัชดาภิเษก - ถนนพระราม 9 ในปัจจุบ้น  มีความคึกคักยิ่งขึ้น ด่ังคำที่หลายๆ สำนักบอกว่า บริเวณพื้นที่นี้ กำลังจะเป็น New CBD ก็ไม่ได้ไกลเกินจริงแต่อย่างใด ซึ่งหากขยับขึ้นไปทางทิศเหนือ บริเวณห้างจัสโก้เดิม ปัจจุบันนี้ก็อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นพื้นที่ศุนย์การค้า ของกลุ่ม Property Perfect และไม่ไกลจากจุดนั้น ก็เป็นที่ตั้งของโครงการ MCOT Complex Center ที่มีกำลังมีแผนพัฒนาโครงการเร็วๆนี้ 

ดังข้อมูลข้างต้นที่ผู้เขียน ได้สรุปคร่าวๆ ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาดู หากกำลังสนใจพื้นที่บริเวณนี้สำหรับในการเลือกทำเลพักอาศัยในอนาคต อีกทั้งในปัจจุบัน ก็ยังมีแผนจากบริษัทผู้พัฒนา ที่จะผุดโปรเจคใหม่ๆ ที่คงไม่ได้มีเฉพาะโปรเจ็คตามที่เอ่ยถึงไปแค่นั้นครับ ซึ่ง รับรองได้ว่า ซัพพลายยังมีเข้ามาในตลาดๆเรื่อย

          
แสดงความคิดเห็น

FREE WIFI TOT

เริ่มต้น ปี 2557 ปีที่มองไปรอบๆ ตัว ค่าครองชีพก็ดูเหมือนจะสูงขึ้นไปตามๆ กัน 
สิ่งที่จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพของเราได้ ก็อาจจะต้องไปพึ่งพา บรรดาของฟรี 
ทั้งหลาย ที่มีให้เราใช้งานกันนะครับ FREE WIFI TOT ก็เป็นอีก หนึ่งโครงการ 
ที่ทาง ICT ช่วยจัดสรรค์โครงการมาช่วยเหลือประชาชนกันนะครับ
โดยการใช้งานก็ต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้งานกันนิดหน่อย ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไร

ดูวิธีการลงทะเบียนได้ที่ http://vip.totwifi.com/ict-metro1/manual_thai.php

LINK ลิงค์สำหรับลงทะเบียน ICT Free WiFi แบ่งตามจังหวัด


>> กรุงเทพมหานครและปริมณฑล3
>> กรุงเทพมหานครและปริมณฑล4 
1. กาญจนบุรี 
2. จันทบุรี 
3. ฉะเชิงเทรา 
4. ชลบุรี 
5. ชัยนาท 
6. ตราด 
7. นครนายก 
8. นครปฐม 
7. ประจวบคีรีขันธ์ 
8. ปราจีนบุรี 
9. พระนครศรีอยุธยา 
10. เพชรบุรี 
11. ระยอง
12. ราชบุรี
13. ลพบุรี 
14. สมุทรสงคราม
15. สมุทรสาคร 
16. สระบุรี
17. สิงห์บุรี 
18. สุพรรณบุรี 
19. อ่างทอง 
20. สระแก้ว 
21. กำแพงเพชร 
22. เชียงราย 
23. เชียงใหม่
24. ตาก 
25. นครสวรรค์ 
26. น่าน 
27. พิจิตร 
28. พิษณุโลก 
29. เพชรบูรณ์ 
30. แพร่ 
31. แม่ฮ่องสอน 
32. ลำปาง 
33. ลำพูน 
34. สุโขทัย
35. อุตรดิตถ์ 
36. อุทัยธานี
37. พะเยา
38. กาฬสินธุ์
39. ขอนแก่น
40. ชัยภูมิ 
41. ยโสธร 
42. นครพนม 
43. นครราชสีมา
44. บุรีรัมย์
45. มหาสารคาม 
46. ร้อยเอ็ด
47. เลย 
48. ศรีสะเกษ 
49. สกลนคร 
50. สุรินทร์
51. หนองคาย 
52. อุดรธานี 
53. อุบลราชธานี 
54. มุกดาหาร 
55. อำนาจเจริญ 
56. หนองบัวลำภู 
57. กระบี่
58. ชุมพร 
59. ตรัง 
60. นครศรีธรรมราช 
61. นราธิวาส 
62. ปัตตานี 
63. พังงา 
64. พัทลุง
65. ภูเก็ต 
66. ยะลา 
67. ระนอง 
68. สงขลา 
69. สตูล 
70. สุราษฎร์ธานี
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1100

* ส่วนข้อแนะนำในการใช้ หากต้องมีการทำธุรกรรม บนอินเตอร์เน็ต ก็ควรระมัดระวังการใช้งานกันสักนิดนะครับ

ตรวจสอบโฉนดที่ดิน

วันนี้ จะแนะนำวิธีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของที่ดินกันนะครับ

ทีอยู่อาศัย ถือเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตคนเรา การได้มาซึ่งที่ดินหรือคอนโด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
จะไม่พูดถึงราคาของที่ดินที่เราจะซื้อ  เพราะหากเราๆ ท่าน ๆ คิดจะซื้อก็ต้องมั่นใจว่ามีเงิน หรือมีแหล่งเงินที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเป็นที่อยู่ของเราใช่ไหมครับ

     ก่อน การตกลงซื้อ-ขายที่ดิน เราควรมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ก่อนนะครับ ว่าเอกสารที่เราได้รับจากผู้ขายมีความถูกต้องเพียงไร จะดูเพียงสำเนาคงไม่ได้ เพราะอะไรนั่นหรอครับ


     คงจะได้ยินข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์กันมาบ้างใช่ไหมครับ ว่าซื้อที่ดิน แล้วไม่ได้ที่ดิน หรือ แม้กระทั่งซื้อแล้ว โอนกรรมสิทธิ์แล้ว บางทีก็ไม่ได้ที่ดิน

     เอาละครับ จะพาไปรู้จักับเอกสารสิทธิ์ที่ดินกันดีกว่า (หลังจากเกริ่นมาเยอะ)

เมื่อได้รับเอกสารโฉนดที่ดินแล้ว ก็ลองตรวจดูตามนี้ครับ


ในกรอบสีแดงด้านซ้ายมือคือ
บรรทัดที่ 1   - ตำแหน่งที่ดิน
บรรทัดที่ 2  คือระวาง คือเลขแผนระวางที่เก็บตำแหน่งที่ดิน
บรรทัดที่ 3  คือเลขที่ดิน
บรรทัดที่ 4 คือหน้าสำรวจ (ปกติใน 1 อำเภอเลขจะไม่ซ้ำกัน)

ในกรอบสีแดงด้านขวามือ
บรรทัดที่ 1 - โฉนดที่ดิน
บรรทัดที่ 2 คือ เลขที่โฉนด
(ปกติใน 1 อำเภอเลขโฉนดจะไม่ซ้ำกัน - แต่เลขอาจเปลี่ยนแปลงได้)
บรรทัดที่ 3 คือเล่ม ....... หน้า .......
บรรทัดที่ 4 คือ อำเภอ ....................
บรรทัดที่ 5 คือ จังหวัด...................


ถ้าอยากตรวจสอบว่าสำเนาโฉนดที่เราได้รับมาจากผู้ขาย (หรือโบรกเกอร์) นั้น เป็นเอกสารที่ถ่ายมาจากของจริงหรือไม่ เราก็สามารถเอาสำเนาโฉนดที่ดิน ที่เราได้รับนั้น ไปขอถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน ฉบับสำนักงานที่ดิน ได้เลยครับ แล้วก็ตรวจดูว่าเหมือนกันไหม
(ปกติแล้วโฉนดที่ดิน จะมี 2 ฉบับเหมือนกัน คือ ฉบับเจ้าของที่ดิน กับ ฉบับสำนักงานที่ดิน
การทำนิติกรรม เกี่ยวกับที่ดินทุกครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลง จะต้องทำเหมือนกันทั้ง 2 ฉบับ)

การขอตรวจสอบหรือขอถ่ายก็ไม่ยากครับ เราสามารถไปยื่นเอกสารขอถ่ายสำเนาโฉนดที่ดินได้ ที่สำนัก
งานที่ดิน ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตรงนี้ลองสอบถามในพื้นที่ของที่ดิน(รวมถึง เอกสารสิทธิ์ห้องชุด) ครับ ว่าที่ที่ดินนั้นๆ ขึ้นกับสำนักงานที่ดิน อะไร (ของกรุงเทพ ฯ มี 17 สำนักงานที่ดิน )
* ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของเราไปด้วยนะครับ

.... จากนั้น ก็เดิน ยิ้มๆ แล้วก็ตรงไปที่โต๊ะ เจ้าหน้าที่ และก็บอกว่า ... ข้าวกระเพรา-ไข่ดาว จานนึง

(ผิดคิว) ต้อง   บอกว่า ขอถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน (หรือเอกสารสิทธิ์ห้องชุด)
จากนั้น เจ้าหน้าที่ๆ ดินจะมีเอกสารให้กรอก (บางครั้งก็มีสอบถามว่า เอาไปทำไร หากเราสนใจจะซื้อก็บอกไปตรงๆเลยครับ)

รอสักหนึ่งอึดใจ (สั้นหรือยาว ก็ ตามจำนวน คนมาติดต่อครับ)
ซึ่งหากเราอยากรู้เรื่องราว ความเป็นมา เกี่ยวกับ เอกสารฉบับนั้น ก็บอกตอนยืนเอกสารด้วยว่า "ขอดูสารบบด้วยนะครับ(ค่ะ)"

จากนั้นจะได้โฉนดที่ดิน (ฉบับสำนักงานที่ดิน) พร้อมกับซองสารบบที่ดิน ที่นี้อยากรู้ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดิน, ติดจำนองหรือเปล่า สำเนาที่เราได้นั้น ถ่ายมาจากโฉนดที่ดินของจริงหรือไม่ก็ลองเทียบดูครับ
 และถ้าอยากถ่ายเท่าฉบับจริงก็ขอถ่ายสำเนาได้ครับ หากจะเอาไปยื่นให้สินเชื่อของธนาคารดูด้วย
ก็แนะนำว่า ขอรับรองสำเนา กับเจ้าหน้าที่ ที่ดิน ด้วยนะครับ

หากอยากรู้ราคาประเมินที่ดินราชการ ก็สอบถามกับเจ้าหน้าที่ดูครับว่า ที่ดินแปลงที่เรายื่นขอตรวจสอบนั้นมีราคาประเมินทีดินราชการตารางวาละเท่าไหร่.
(แต่ถ้าเป็นของ กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดใหญ่ๆก็ยิ่งง่ายเลยครับ http://landprice.treasury.go.th/zonecondition_1.php
เข้าไปที่เว็บนี้ครับก็ป้อนเลขที่หน้าสำรวจ กับเลขที่โฉนด แล้วก็กดค้นหา ก็จะไปขึ้นหน้าราคาประเมินราชการ)

       ถ้าอยากทราบตำแหน่งก็ขอตรวจระวางที่ดิน (หรือจะขอถ่ายสำเนาระวางด้วยก็ได้ครับ)   ก็แจ้งเจ้าหน้าที่แล้วก็เอา เอกสารไปยื่นที่ฝ่ายรังวัดของกรมที่ดินได้เลยครับ
(ปกติแล้ว สำนักงานที่ดินจะแบ่งโซนฝ่ายทะเบียน กับ ฝ่ายรังวัด)

ตอนเดินไปที่ฝ่ายรังวัดก็ยิ้มหวานๆ แล้วก็ยื่นเอกสาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายรังวัดก็จะดูเลขที่ระวาง แล้วก็จะเดินไปหยิบระวางของกรมที่ดินมาให้เราดู  อาจจะดูยากหน่อยสำหรับคนไม่เคยดู ลองปรึกษาเจ้าหน้าที่รังวัดดูครับ

       ในหน้าของระวางที่ดินก็จะมีเลขระวางที่ดิน ถ้าถูกต้องก็จะเหมือนตามเอกสารโฉนดทีดินที่เรามี
ก็ลองเช็คดูก็ได้ครับ ว่าตรงกับของเราไหม  แต่มีนิดนึงตรงตำแหน่งที่ดิน ตรงระวางที่ดินครับ ปกติโฉนดรุ่นใหม่ๆ จะเป็นระวางแบบ UTM เลขระวางก็จะประมาณนี้  5136 III 6420 - 14
แต่บางพื้นที่(ต่างจังหวัด) จะมีระวางศูนย์กำเนินร่วมด้วย ระวางศูนย์กำเนิดประมาณว่า 10 ฎ 5 อ. ประมาณนี้ครับ  ส่วนมากจะเป็นระวางรุ่นเก่าๆ ในกรุงเทพนี่น่าจะไม่มีแล้ว
น่าจะเปลี่ยนนเป็น UTM เกือบหมดแล้ว ที่บอกเรื่องนี้เพราะถ้าเป็นระวางศูนย์กำเนิด แล้วมาเปลี่ยนเป็นระวาง UTM ปกติเลขที่ดินจะเปลี่ยนครับ ต้องดูให้ดีครับ

ถัดลงมาบริเวณตรงที่เขียนว่ารูปแผนที่  จะมีคำว่ามาตราส่วน(ด้านขวามือ)
ปกติใน กทม.นี่น่าจะเป็น 1:1000 ลองวัดขนาดดูก็ได้ครับเอาไม้บรรทัดวัดดู สมมุตว่าวัดด้านติดถนนได้ 10 มิลลิเมตร   นั่นแสดงว่ารูปแปลงที่ดินด้านนั้นของจริงจะกว้าง 10 เมตร
ด้านอื่นก็ลองวัดดูคร่าวๆได้ครับว่าตรงกับโฉนดไหม

  เราสามารถขอถ่ายสำเนาระวางที่ดินได้ครับ ก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่ ได้เลย (แต่เอาเท่าที่จำเป็นนะครับ เพราะถ้าถ่ายติดหลายแปลง ค่าธรรมเนียมจะแพงครับ)

ก็ถือเป็นเสร็จการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์นะครับ ทุกวันนี้ ราคาของอสังหาริมทรัพย์บ้านเราแพงขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนซื้อก็อย่าลืมตรวจสอบกันดีๆ ก่อนจ่ายเงินนะครับ ^^


อ่านต่อ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2 -

แสดงความคิดเห็น
Copyright © 2014 Life Sabuy , คอนโดมิเนียม , คอนโด , ราคาประเมิน, ซื้อคอนโด, ราคาคอนโด, ขายคอนโด
www.lifesabuy.com