BREAKING NEWS

condo living

Property

Category 7

From our Blog

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ condo living แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ condo living แสดงบทความทั้งหมด

เสียค่าเช่าห้องอยู่ทำไม ซื้อ(คอนโด)ดีกว่า(หรือ)เปล่า - ตอนที่ 1



ปัจจุบันในกรุงเทพมหานคร หรือตามเมืองใหญ่ๆ มักจะมีประชากรแฝง กระจายอยู่ใน กรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่ก็คงเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานหรือศึกษาในกรุงเทพมหานคร

แรกเริ่มเดิมทีของคนส่วนใหญ่ก็มักจะหาที่พักใกล้กับที่ทำงาน ซึ่งมีกันมากมาย หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่จะเรียกกัน ทั้ง อพาร์เมนต์ ห้องเช่า แมนชั่น ฯ ซึ่งขอเหมารวมว่าเป็นการเช่าแบบเดียวกันนะครับ (เพราะก็ต้องจ่ายค่าเช่าต่อเดือนอยู่ดี)

เมื่ออยู่ ๆ ไปสักพัก เมื่อเริ่มทำงานได้สักระยะ มีรายได้มั่นคงในระดับนึง เชื่อว่า จะมีบางท่านมีความคิดเข้ามาในสมองว่า เสียดายค่าเช่า (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ^_^)  จากแรก ๆ เช่าอยู่ไม่กี่พันๆ ค่อยๆ ขยับ สี่-ห้าพัน เอ๊ะ ชักมากขึ้นเรื่อยๆ (เหมือนมันมากขึ้นตามเงินเดือนเลยนะครับ) เดือนนึง ห้า-หกพัน หรือมากกว่านี้ แล้วถ้าปีนึง หรือหลายๆปี ละ
        
   1 ปี       6,000 x 12  เดือน =    72,000
   2 ปี       6,000 x 24  เดือน =  144,000
   3 ปี       6,000 x 36  เดือน =  216,000
   4 ปี       6,000 x 48  เดือน =  288,000
   5 ปี       6,000 x 60  เดือน =  360,000

นั่นคือ ยิ่งเช่าพักอยู่นาน ค่าเช่าสะสมที่เราจ่ายไป หากเมื่อไหร่ที่เราย้ายออก ก็คงมิได้คืนกลับมาแม้แต่บาทเดียว ยิ่งถ้าเราเสียค่าเช่าต่อเดือนแพง ค่าเช่าสะสมที่เราเสียไปก็ยิ่งแพงขึ้น


             ตรงนี้เราอาจจะมานั่งคิดว่า อยากมีบ้าน หรือที่อยู่เป็นของตัวเอง แต่ ณ. ชั่วโมงนี้ การจะหาบ้านเดี่ยว ในเมืองหลวง น่าจะเป็นการยากขึ้น เพราะถึงเป็นบ้านเดี่ยวในราคาขั้นต้น ก็คงต้องถอยไปอยู่ชานเมือง (มากๆ) หน่อย แล้วถ้าทาวน์เฮ้าส์ละ ก็อาจจะยังพอหาได้ และอาจจะใกล้เมืองหลวงขึ้นมาหน่อย แต่อาจจะต้องเป็น ทาวน์เฮ้าส์มือสอง

(ผู้เขียนเคยได้ไปฟังบรรยาย ของผู้บริหารของผู้พัฒนาเจ้าหนึ่ง ท่านบอกว่า ด้วยต้นทุนที่ดินและค่าก่อสร้างปัจจุบัน บริษัทของผู้บรรยาย ไม่สามารถทำทาวน์เฮ้าส์หรือทาวน์โฮม ในกรุงเทพฯ ขายในราคาต่ำกว่า 2 ล้านได้แล้ว)

            ที่น่าจะยังพอหาได้ และมีค่าใช้จ่ายรายเดือน (จริงๆต้องเรียกว่าเงินลงทุน ถึงจะถูกนะ) ใกล้เคียงกับค่าเช่าห้อง หรือค่าเช่าอพาร์ทเมนต์ และมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับการเช่าอพาร์เมนต์ ก็น่าจะเป็น คอนโด หรือ อาคารชุด
        
            โดยในปัจจุบัน ยอดขายของอสังหา อันดับ 1 ก็ต้องยกให้ คอนโด อาจจะด้วยความสะดวกสะบาย และอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงมีความปลอดภัยต่อการเดินทาง ซึ่ง สังเกตุได้จาก ปัจจุบันมีผู้พัฒนาโครงการใหม่ๆ  เข้ามาชิงเค็กก้อนนี้กัน ไม่เฉพาะ เจ้าตลาดเดิมๆ ส่วนหนึ่งก็อาจจด้วยผลตอบแทนของการลงทุนสูง เมื่อปิดโครงการ สามารถทำกำไรได้มากกว่าการพัฒนาอสังหาในแนวราบ
        
          ถ้าพูดถึงราคาขาย ในทุกเซกเมนต์ของ คอนโดใหม่ๆ ก็มีตั้งแต่เริ่มต้นแสนปลาย ขึ้นไป จนถึงระดับร้อยล้าน

          ถ้าแตกย่อยไปที่ราคา คอนโด ต่อตารางเมตร คอนโดราคาถูก ก็มีตั้งแต่ 35,000.- บาท/ตารางเมตร จนแพงขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดที่มีขายในบ้านเรา เท่าที่ทราบข่าวก็คือ 600,000.- บาท/ตาราเมตร (ผมไม่ได้เขียนผิดนะ) 

คอนโด ที่มีราคาขายสูงที่สุดตอนนี้ก็คือ คอนโด เกรด Top ของแสนสิริ  โดยโครงการนี้ตั้งอยู่บน ถนนวิทยุ ทำเลที่ดังเมื่อ 1-2 ปีก่อน ว่ามีการซื้อขายที่ดินในราคาที่แพงที่สุดที่ตารางวาละ 1.5 ล้าน ก็แปลงนี้แหล่ะครับ อาจจะด้วยทำเลที่ดี หาที่ดินเปล่าได้ยาก รวมถึง ใกล้ๆ กับคอนโด มีโครงการของเซ็นทรัล ที่ระดับ Top อีกเหมือนกัน นั่นก็คือ "เซ็นทรัล เอ็มบาสซี"
* ภาพโครงการ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี จาก th.wikipedia.org


เมื่อพูดถึง คอนโด ที่มีราคาขายในระดับสูงแล้ว ในครั้งต่อไปจะพูดถึง คอนโดที่มีราคาไม่แพง บ้าง เดี๊ยวมาดูกันครับ ว่าปัจจุบัน คอนโด ตลาดล่าง มีราคาเสนอขายประมาณเท่าไหร่
แสดงความคิดเห็น

ตรวจสอบโฉนดที่ดิน

วันนี้ จะแนะนำวิธีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของที่ดินกันนะครับ

ทีอยู่อาศัย ถือเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตคนเรา การได้มาซึ่งที่ดินหรือคอนโด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
จะไม่พูดถึงราคาของที่ดินที่เราจะซื้อ  เพราะหากเราๆ ท่าน ๆ คิดจะซื้อก็ต้องมั่นใจว่ามีเงิน หรือมีแหล่งเงินที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเป็นที่อยู่ของเราใช่ไหมครับ

     ก่อน การตกลงซื้อ-ขายที่ดิน เราควรมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ก่อนนะครับ ว่าเอกสารที่เราได้รับจากผู้ขายมีความถูกต้องเพียงไร จะดูเพียงสำเนาคงไม่ได้ เพราะอะไรนั่นหรอครับ


     คงจะได้ยินข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์กันมาบ้างใช่ไหมครับ ว่าซื้อที่ดิน แล้วไม่ได้ที่ดิน หรือ แม้กระทั่งซื้อแล้ว โอนกรรมสิทธิ์แล้ว บางทีก็ไม่ได้ที่ดิน

     เอาละครับ จะพาไปรู้จักับเอกสารสิทธิ์ที่ดินกันดีกว่า (หลังจากเกริ่นมาเยอะ)

เมื่อได้รับเอกสารโฉนดที่ดินแล้ว ก็ลองตรวจดูตามนี้ครับ


ในกรอบสีแดงด้านซ้ายมือคือ
บรรทัดที่ 1   - ตำแหน่งที่ดิน
บรรทัดที่ 2  คือระวาง คือเลขแผนระวางที่เก็บตำแหน่งที่ดิน
บรรทัดที่ 3  คือเลขที่ดิน
บรรทัดที่ 4 คือหน้าสำรวจ (ปกติใน 1 อำเภอเลขจะไม่ซ้ำกัน)

ในกรอบสีแดงด้านขวามือ
บรรทัดที่ 1 - โฉนดที่ดิน
บรรทัดที่ 2 คือ เลขที่โฉนด
(ปกติใน 1 อำเภอเลขโฉนดจะไม่ซ้ำกัน - แต่เลขอาจเปลี่ยนแปลงได้)
บรรทัดที่ 3 คือเล่ม ....... หน้า .......
บรรทัดที่ 4 คือ อำเภอ ....................
บรรทัดที่ 5 คือ จังหวัด...................


ถ้าอยากตรวจสอบว่าสำเนาโฉนดที่เราได้รับมาจากผู้ขาย (หรือโบรกเกอร์) นั้น เป็นเอกสารที่ถ่ายมาจากของจริงหรือไม่ เราก็สามารถเอาสำเนาโฉนดที่ดิน ที่เราได้รับนั้น ไปขอถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน ฉบับสำนักงานที่ดิน ได้เลยครับ แล้วก็ตรวจดูว่าเหมือนกันไหม
(ปกติแล้วโฉนดที่ดิน จะมี 2 ฉบับเหมือนกัน คือ ฉบับเจ้าของที่ดิน กับ ฉบับสำนักงานที่ดิน
การทำนิติกรรม เกี่ยวกับที่ดินทุกครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลง จะต้องทำเหมือนกันทั้ง 2 ฉบับ)

การขอตรวจสอบหรือขอถ่ายก็ไม่ยากครับ เราสามารถไปยื่นเอกสารขอถ่ายสำเนาโฉนดที่ดินได้ ที่สำนัก
งานที่ดิน ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตรงนี้ลองสอบถามในพื้นที่ของที่ดิน(รวมถึง เอกสารสิทธิ์ห้องชุด) ครับ ว่าที่ที่ดินนั้นๆ ขึ้นกับสำนักงานที่ดิน อะไร (ของกรุงเทพ ฯ มี 17 สำนักงานที่ดิน )
* ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของเราไปด้วยนะครับ

.... จากนั้น ก็เดิน ยิ้มๆ แล้วก็ตรงไปที่โต๊ะ เจ้าหน้าที่ และก็บอกว่า ... ข้าวกระเพรา-ไข่ดาว จานนึง

(ผิดคิว) ต้อง   บอกว่า ขอถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน (หรือเอกสารสิทธิ์ห้องชุด)
จากนั้น เจ้าหน้าที่ๆ ดินจะมีเอกสารให้กรอก (บางครั้งก็มีสอบถามว่า เอาไปทำไร หากเราสนใจจะซื้อก็บอกไปตรงๆเลยครับ)

รอสักหนึ่งอึดใจ (สั้นหรือยาว ก็ ตามจำนวน คนมาติดต่อครับ)
ซึ่งหากเราอยากรู้เรื่องราว ความเป็นมา เกี่ยวกับ เอกสารฉบับนั้น ก็บอกตอนยืนเอกสารด้วยว่า "ขอดูสารบบด้วยนะครับ(ค่ะ)"

จากนั้นจะได้โฉนดที่ดิน (ฉบับสำนักงานที่ดิน) พร้อมกับซองสารบบที่ดิน ที่นี้อยากรู้ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดิน, ติดจำนองหรือเปล่า สำเนาที่เราได้นั้น ถ่ายมาจากโฉนดที่ดินของจริงหรือไม่ก็ลองเทียบดูครับ
 และถ้าอยากถ่ายเท่าฉบับจริงก็ขอถ่ายสำเนาได้ครับ หากจะเอาไปยื่นให้สินเชื่อของธนาคารดูด้วย
ก็แนะนำว่า ขอรับรองสำเนา กับเจ้าหน้าที่ ที่ดิน ด้วยนะครับ

หากอยากรู้ราคาประเมินที่ดินราชการ ก็สอบถามกับเจ้าหน้าที่ดูครับว่า ที่ดินแปลงที่เรายื่นขอตรวจสอบนั้นมีราคาประเมินทีดินราชการตารางวาละเท่าไหร่.
(แต่ถ้าเป็นของ กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดใหญ่ๆก็ยิ่งง่ายเลยครับ http://landprice.treasury.go.th/zonecondition_1.php
เข้าไปที่เว็บนี้ครับก็ป้อนเลขที่หน้าสำรวจ กับเลขที่โฉนด แล้วก็กดค้นหา ก็จะไปขึ้นหน้าราคาประเมินราชการ)

       ถ้าอยากทราบตำแหน่งก็ขอตรวจระวางที่ดิน (หรือจะขอถ่ายสำเนาระวางด้วยก็ได้ครับ)   ก็แจ้งเจ้าหน้าที่แล้วก็เอา เอกสารไปยื่นที่ฝ่ายรังวัดของกรมที่ดินได้เลยครับ
(ปกติแล้ว สำนักงานที่ดินจะแบ่งโซนฝ่ายทะเบียน กับ ฝ่ายรังวัด)

ตอนเดินไปที่ฝ่ายรังวัดก็ยิ้มหวานๆ แล้วก็ยื่นเอกสาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายรังวัดก็จะดูเลขที่ระวาง แล้วก็จะเดินไปหยิบระวางของกรมที่ดินมาให้เราดู  อาจจะดูยากหน่อยสำหรับคนไม่เคยดู ลองปรึกษาเจ้าหน้าที่รังวัดดูครับ

       ในหน้าของระวางที่ดินก็จะมีเลขระวางที่ดิน ถ้าถูกต้องก็จะเหมือนตามเอกสารโฉนดทีดินที่เรามี
ก็ลองเช็คดูก็ได้ครับ ว่าตรงกับของเราไหม  แต่มีนิดนึงตรงตำแหน่งที่ดิน ตรงระวางที่ดินครับ ปกติโฉนดรุ่นใหม่ๆ จะเป็นระวางแบบ UTM เลขระวางก็จะประมาณนี้  5136 III 6420 - 14
แต่บางพื้นที่(ต่างจังหวัด) จะมีระวางศูนย์กำเนินร่วมด้วย ระวางศูนย์กำเนิดประมาณว่า 10 ฎ 5 อ. ประมาณนี้ครับ  ส่วนมากจะเป็นระวางรุ่นเก่าๆ ในกรุงเทพนี่น่าจะไม่มีแล้ว
น่าจะเปลี่ยนนเป็น UTM เกือบหมดแล้ว ที่บอกเรื่องนี้เพราะถ้าเป็นระวางศูนย์กำเนิด แล้วมาเปลี่ยนเป็นระวาง UTM ปกติเลขที่ดินจะเปลี่ยนครับ ต้องดูให้ดีครับ

ถัดลงมาบริเวณตรงที่เขียนว่ารูปแผนที่  จะมีคำว่ามาตราส่วน(ด้านขวามือ)
ปกติใน กทม.นี่น่าจะเป็น 1:1000 ลองวัดขนาดดูก็ได้ครับเอาไม้บรรทัดวัดดู สมมุตว่าวัดด้านติดถนนได้ 10 มิลลิเมตร   นั่นแสดงว่ารูปแปลงที่ดินด้านนั้นของจริงจะกว้าง 10 เมตร
ด้านอื่นก็ลองวัดดูคร่าวๆได้ครับว่าตรงกับโฉนดไหม

  เราสามารถขอถ่ายสำเนาระวางที่ดินได้ครับ ก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่ ได้เลย (แต่เอาเท่าที่จำเป็นนะครับ เพราะถ้าถ่ายติดหลายแปลง ค่าธรรมเนียมจะแพงครับ)

ก็ถือเป็นเสร็จการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์นะครับ ทุกวันนี้ ราคาของอสังหาริมทรัพย์บ้านเราแพงขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนซื้อก็อย่าลืมตรวจสอบกันดีๆ ก่อนจ่ายเงินนะครับ ^^


อ่านต่อ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2 -

แสดงความคิดเห็น

ทำไมต้องจ่าย ค่าส่วนกลาง !

ทำไมต้องจ่าย ค่าส่วนกลาง !



สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งรู้จักคอนโด ก็อาจจะมีคนสงสัยว่า !
ทำไมเมื่อซื้อห้องชุด หรือ คอนโด แล้ว ยังต้องมาจ่ายค่าส่วนกลาง (เฉพาะค่าผ่อนห้องก็หนักหนาแล้วนะ -_-!) แล้วถ้าเราจะเบี้ยวค่าส่วนกลางละ จะมีใครเดือดร้อนไหม

คอนโด ปกติ มีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ 2 ส่วน คือ

1.ทรัพย์ส่วนบุคคล
2.ทรัพย์ส่วนกลาง



ทรัพย์ส่วนบุคคล คือทรัพย์สินส่วนที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ที่เข้าใจง่ายๆ ก็ห้องที่เราซื้อนั่นแหล่ะครับ

ทีนี้ เมื่อเรามีห้องแล้ว ห้องแต่ละห้องจะอยู่เดี่ยวๆไม่ได้ แต่มันก็ยังต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวข้อง  เช่นอาคาร ที่เป็นส่วนยึดห้องแต่ละห้องยึดติดกับ ห้อง คนนั้น ห้องคนนี้ รวมถึงห้องที่เราซื้อ

ทรัพย์ส่วนกลาง คือทรัพย์สินส่วนรวม ที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ คือ เจ้าของร่วม(เจ้าของห้องในคอนโด)ทั้งหมดที่อยู่ในโครงการ แบ่งตามสัดส่วนของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง โดยตรงนี้จะมีระบุอัตราส่วนไว้ด้านหน้าเอกสารสิทธิ์(อช.2)

โดยที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วมอาจมีไม่เท่ากันทุกคน

หากเป็น สมัยก่อน จะแบ่งตามราคาห้องชุด ห้องไหนที่ซื้อแพงก็มีถือสัดส่วนเยอะกว่าห้องที่มีราคาถูกกว่า (คอนโดที่จดทะเบียนไว้ก่อนพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีผลบังคับ (วันที่ 4 กรกฎาคม 2551) )
- ก็ตามราคานะ ซื้อแพงกว่า ก็เลยได้กรรมสิทธิ์ส่วนกลางมากกว่า ^^-

แต่ปัจจุบันแบ่งตามเนื้อที่ห้องชุด ห้องไหนมีพื้นที่มากก็ถือสัดส่วนมากตาม
(อาคารชุดที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เป็นไปตามอัตราส่วนระหว่างเนื้อที่ของห้องชุด)
- จะว่าไปก็คล้ายๆ ของเดิม เพราะถ้าห้องที่มีพื้นที่มากก็ราคามากกว่า ห้องที่มีพื้นที่น้อยกว่า)

ทรัพย์สินส่วนกลาง คืออะไรละ

มันก็คือ ทรพย์สินทุกอย่างทีมีอยู่ในอาคารชุด ที่ไม่รวมห้องชุด เป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อใช้ หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ไม่ว่าจะเป็น โถงทางเดิน ลิฟต์ บันไดขึ้นลง บันไดหนีไฟ รั้วรอบคอนโด ฟิตเนส สระว่ายน้ำ .... ตรงนี้ มากน้อยไม่เท่ากันทุกโครงการครับ (แปรผันตามราคาขาย ^_^)

ทีนี้ ส่วนกลางบางอย่างเวลาเราใช้งาน อาจจะต้องไช้ไฟฟ้าในการใช้ เช่น ลิฟต์ ไฟทางเดินส่วนกลาง ปั๊มน้ำส่วนกลาง ฯ

พวกนี้ ค่าไฟเดือนๆ นึง หากโครงการเล็กๆ ก็คงไม่กี่หมื่น แต่หากโครงการใหญ่ๆ ค่าไฟส่วนกลางเดือนนึงก็หลักแสนขึ้น ( ต้องช่วยกันประหยัด นะครับ ^)

อีกทั้ง ส่วนกลางจะอยู่โดยลำพังไม่มีใครดูแลก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เลยต้องมี

- พนักงานรักษาความสะอาด ยิ่งคอนโด คือที่อยู่อาศัยของคนหมู่มาก มีทั้งเจ้าของห้องอยู่เอง มีทั้งคนเช่าอยู่ หากไม่มีคนคอยทำความสะอาดด้วยแล้ว ไม่นานคอนโดเราก็จะสกปรกไม่น่าอยู่

พนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย คอยช่วยตรวจสอบบุคคลภายนอก หรือ คอยช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรภายในคอนโดเรา

- บริษัท บริหารอาคาร ที่คอยทำหน้าที่ดูแล บริหารจัดการหลายๆ อย่าง ให้สามารถใช้งานได้

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ คือส่วนที่เจ้าของร่วม ต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายพวกนี้ รวมๆ กันก็คงอยู่ในระดับแสนต้นๆ ขึ้นไป ต่อเดือน
(บวกลบ ตามจำนวนบุคลากร, ตามเกรดของบริษัทที่เราว่าจ้าง และตามส่วนกลางที่มี)

และนี่เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ว่าเวลาเราซื้อคอนโด (หรือบ้านจัดสรร) ทำไมจึงยังต้องมีค่าส่วนกลาง


อืม ! แล้วทำไมค่าส่วนกลางแต่ละที่ถึงไม่เท่ากันละ

เนื่องจาก คอนโดแต่ละที่ มีทรัพย์ส่วนกลาง และบุคลากรที่ต้องว่าจ้างเข้ามาทำงานให้ ไม่เท่ากัน ค่าจ้างต่างๆ ก็เลยไม่เท่ากัน เลยทำให้ค่าส่วนกลาง คอนโดแต่ละแห่ง ไม่เท่ากัน
มีตั้งแต่ไม่กี่สิบบาท จน หลายๆ สิบบาท

การคิดค่าส่วนกลางเบื้องต้น เราสามารถคำนวน ได้ง่ายๆ ดังนี้


สมมุติค่าใช้จ่ายส่วนกลาง รวมทั้งหมด             500,000 บาท ต่อเดือน
มีจำนวนห้องชุด(ถ้าขนาดห้องเท่ากันทั้งหมด)  500 ยูนิต.

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายต่อห้อง              = 500,000 / 500   = 1,000 บาท ต่อเดือน

แต่ ปกติแล้วเขาจะไม่คิดให้พอดีเท่าค่าใช้จ่าย เพราะ บางครั้ง อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกิดขึ้นนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายปกติ เลยมักจะเผื่อไปอีกเล็กน้อย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เงินค่าส่วนกลางที่มีจะได้ครอบคลุมได้ ตรงนี้ก็ไม่ต้องกลัวว่าเงินจะหายไปไหนนะ เพราะหากมีเงินเหลือ เงินก็จะถูกสะสมอยู่ในส่วนกลาง ยิ่งมีเงินเหลือมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้สถานะการเงินของคอนโดมั่นคง มีเงินส่วนกลางที่จะเอาไปพัฒนาแก้ไข อาคาร หรือ ส่วนประกอบอาคารต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี ไม่เสื่อมโทรม

แล้วสุดท้าย สิ่งที่จะตามมา คือ ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป มูลค่า หรือ ราคา คอนโด ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการดูแลรักษาที่ดี คงไม่มีใครอยากซื้อ คอนโดที่มีสภาพอาคารเก่าๆ ขาดการดูแลหรอก ใช่ไหมครับ


แสดงความคิดเห็น

ราคาประเมิน

ราคาประเมิน

ในบทความแรกๆ เคยเขียนถึงความแตกต่างของราคาประเมิน ที่หลายๆ ท่านยังคงเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่างราคาประเมินราชการกับราคาประเมินทรัพย์สิน

ราคาประเมิน + ราชการ   คือ ราคาประเมินที่ออกจากหน่วยงานราชการ(กรมธนารักษ์)
ชื่อจริงๆ แบบเป็นทางการคือ  "ราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม"

ราคาประเมิน + ทรัพย์สิน โดยปกติแล้วคือราคาที่เป็นความเห็นว่าราคานั้นๆ เป็นราคาตลาด(fair value) ที่สามารถซื้อขายได้ตามปกติทั่วไป โดยไม่มีเงื่อนไขพิเศษใดๆ (เช่นผู้ขายรีบขาย หรือ ผู้ซื้ออยากได้ทรัพย์สินนั้นๆ เป็น  กรณีพิเศษ) โดยทั่วไป หน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นหน่วยงานที่วิเคราะห์ราคานี้ คือ บริษัทประเมินทรัพย์สิน

บริษัทประเมินทรัพย์สิน คือ หน่วยงานบริษัทเอกชนที่ตั้งขึ้นมาจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยแต่ละบริษัทจะมีสมาคมของบริษัทประเมินที่คอยควบคุมการทำงานของแต่ละบริษัท ให้มีมาตราฐาน และจรรยาบรรณ โดยมีสมาคมที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 สมาคม คือ



                โดยเราสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดของทั้ง 2 สมาคม ได้ตามเว็บไซด์(คลิกที่ชื่อสมาคม) รวมทั้งสามารถ ตรวจสอบรายชื่อนัก   ประเมินราคาทรัพย์สินที่ผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถได้จากเว็บไซด์ของทั้ง 2                   สมาคม
                
               ดังนั้น ก่อนทำการประเมินราคา ควรมีการตรวจสอบรายชื่อบริษัทประเมิน ที่เราจะรับบริการ ว่าอยู่ในรายชื่อ    และการควบคุมจากทั้ง 2 สมาคม หรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะได้รับบริการจากการทำงานของบริษัทประเมิน                ที่มีมาตราฐานที่ดี

แสดงความคิดเห็น

หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด (อ.ช.10)

"หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด ( อ.ช.10)" 



เวลาทำการซื้อขายคอนโด หรือ ห้องชุด สิ่งหนึ่งที่เราควรจะตรวจสอบนอกจากหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด(อช.2)(ใครจะเรียกว่า โฉนดห้องชุด ก็ได้ครับ) ซึ่งที่จริงแล้วเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด (หรือ อ.ช.10)" 

โดยแรกเริ่ม บริษัทที่พัฒนาคอนโดขายจำเป็นต้องนำโครงการคอนโดนั้นไปยื่นขอเอกสารจดทะเบียนอาคารชุด เพื่อให้ได้มาซึ่ง "หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด (อ.ช.10)" กับพนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ก่อนที่จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับผู้จะขาย  ซึ่งจริงๆแล้วจะมีเอกสารอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ผู้ขายต้องยื่นเวลาจะขอจดทะเบียนอาคารชุด  ซึ่งเราสามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซด์ของกรมที่ดิน ครับ

โดยรายละเอียดตัวอย่างของหนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุดเบื้องต้นก็จะประกอบด้วย

1.       ชื่ออาคารชุด
2.       โฉนดที่ดินเลขที่ ซึ่งจะบอกถึงที่ตั้งของอาคารชุด
        (ตรงนี้จะเหมือนกับที่ระบุไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด)
3.       รายละเอียด เกี่ยวกับจำนวนอาคาร และจำนวนห้องชุด

ถัดลงมาจากรายการข้างต้นก็จะเป็นรายละเอียดหนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด (อ.ช.10) โดยทั่วไปก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่คอนโด หรือ อาคารชุดทั่วไป ต้องระบุ อาจจะไม่เหมือนกันทุกคอนโด แต่ก็จะมีเนื้อหาประมาณนี้ครับ

 ถัดลงมาจากรายการข้างต้นจะบอกถึง

1.       ทรัพย์ส่วนบุคคล ประกอบด้วยจำนวนห้องชุด......ห้อง 
         (แล้วแต่ว่าทางผู้พัฒนาจะทำกี่ห้อง)
2.       ทรัพย์ส่วนกลาง

ในส่วนของข้อ 2 นี่แหล่ะครับ สำคัญเพราะจะบอกถึงรายละเอียดและมีบัญชีทรัพย์ส่วนกลางอาคารชุด ระบุไว้ ถึงรายการและจำนวนของทรัพย์ส่วนกลางที่ผู้ขายได้นำไปจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานที่ดิน  ว่ามีอะไรบ้าง
เช่น โฉนดที่ดิน, โครงสร้างและสิ่งก่อสร้างอาคาร, ห้องสำนักงานนิติบุคคล, พื้นที่ทางเดิน, ลิฟต์โดยสาร, ระบบบำบัดน้ำเสีย, ห้องฟิตเนส, สระว่ายน้ำ, สวน ฯ

            รายละเอียดของทรัพย์ส่วนกลางนี้ จะไม่เท่ากัน มากน้อย ตามแต่ผู้พัฒนาโครงการจะจัดไว้(บางอย่างอาจจะตามกฏหมายควบคุมอาคารหรือกฏหมายท้องถิ่นระบุไว้ว่าต้องมีมากหรือน้อย ตามเกณฑ์)

เหตุผลที่ว่าสำคัญคือ หากเป็นโครงการใหม่ๆ เราก็จะได้เอาไว้ตรวจสอบเวลาที่โครงการพัฒนาแล้วเสร็จ ว่ามีจดไว้ตามที่ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ หรือ อาจจะเอาไว้เปรียบเทียบกับเอกสารการขาย(โบชัวร์) ตอนที่เราได้รับจากผู้ขายว่า มีตรงตามที่เราได้รับแจ้งขายหรือไม่ เพราะบางครั้ง ก่อนขายมีโฆษณาไว้เยอะแยะมากมาย แต่พอสร้างเสร็จบางอย่างไม่มีปรากฏให้เห็น ตรงนี้จะได้เป็นการรักษาสิทธิ์ของเราครับ ถ้าเราไม่ตรวจสอบ แล้วภายหลังโครงการไม่ทำเหมือนตามข้อมูลและเอกสารที่เราได้รับ ก็จะเป็นการเสียสิทธิ์ไปเสียปล่าว 

ทั้งนี้เวลาเราสนใจและตัดสินใจที่จะซื้ออาคารชุดหรือคอนโด โครงการไหนๆ เอกสารที่เราได้รับจากตอนการเสนอขายทุกอย่างสำคัญหมดนะครับ ควรจะเก็บไว้ให้ดีและเอกสารชิ้นไหนที่ได้รับประเภทเป็นเอกสารแนบ เช่นเป็นกระดาษ A 4 แยกออกมาต่างหาก และมีข้อมูลเกี่ยวกับการขายหรือรายละเอียดโครงการต่างๆ หากไม่มีตราประทับว่าเป็นของผู้ขาย ควรทำการ ร้องขอให้ทางโครงการทำตราประทับหรือเซ็นต์กำกับไว้ด้วยครับ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดทีหลัง และไม่มีตราประทับหรือลายเซ็นต์กำกับ อาจจะโดนอ้างว่าเอกสารไม่ได้ออกจากทางผู้พัฒนาโครงการ (อันนี้เคยโดนกับตัวมาแล้วครับ)

นอกจากเอกสาร หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ที่เอาไว้ตรวจสอบทรัพย์ส่วนบุคคลที่เราต้องตรวจสอบแล้ว เอกสารอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันที่เราควรขอจากผู้ขาย หรือควรไปตรวจสอบก็คือ "หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด (อ.ช.10)" ที่เอาไว้ตรวจสอบทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด หรือคอนโดที่เราซื้อครั(ใช้ได้ทั้งคอนโดโครงการใหม่ และ คอนโดที่ซื้อต่อจากคนอื่นครับ)

*ข้อมูลข้างต้นเขียนจากประสบการณ์การส่วนตัวและประสบการณ์จากการทำงานที่ได้พบที่ต้องการนำมาแชร์ความรู้ ขอสงวนลิขสิทธิ์บทความไว้นะครับ
แสดงความคิดเห็น

The condo | เรื่องของ คอนโด


คอนโด เป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างนึงที่ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเราเนื่องจากเป็นการอยู่อาศัยที่ค่อนข้างสะดวกสะบาย และดูทันสมัย  ซึ่งปกติราคาขายคอนโดที่พบเห็นในปัจจุบันก็เริ่มตั้งแต่ ไม่กี่หมื่นบาท ต่อตารางเมตร จนถึงหลายๆแสน บาทต่อตารางเมตร(ปัจจุบัน 400,000.- บาท/ตร.ม)

สิ่งที่ทำให้คอนโด มีราคาขายแตกต่างกัน โดยส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของทำเลที่ตั้งโครงการ การคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ และการตกแต่งภายในห้อง เป็นต้น
ส่วนประกอบของอาคารชุดหรือคอนโด หลักๆ มี 2 ส่วน คือ

1. ทรัพย์ส่วนบุคคล
2. ทรัพย์ส่วนกลาง

                เริ่มแรกก่อนที่เราจะไปรู้จักว่าทรัพย์ส่วนกลางคืออะไรจะขอกล่าวถึงที่คนทั่วไปเวลาซื้อคอนโด หรือ อาคารชุดมักจะได้รับจากสำนักงานขายก่อนเลยก็คือ แบบแปลน, ราคาขายและรายละเอียดของคอนโด ซึ่งถ้าเป็น คอนโดที่เสร็จแล้ว(สร้างก่อนขายหรือคอนโดมือสอง) เรามักจะได้รับเอกสารมาอีกใบ นั่นคือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด” หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างนึงคืออช.2” ทั้งนี้มีภาษาพูดแบบไม่เป็นทางการ อีกคำหนึ่งที่เคยได้ยินคนพูดกันคือ โฉนดห้องชุด“ ซึ่งจะเรียกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่มันก็คือ อย่างเดียวกัน
 *ขออนุญาตนำรูปร่างหน้าตาของเอกสารมาจากบล็อกของคุณหมาร่าหมาหรอดครับ

หน้าตาของเอกสารก็จะประมาณนี้มีครุฑอยู่แบบนี้ แน่นอนครับว่าเป็นเอกสารที่ต้องออกจากหน่วยงานราชการ
โดยที่มุมขวาของเอกสารจะมีระบุถึงตำแหน่งที่ดิน(ที่ตั้งของคอนโด)ว่าตั้งอยู่ที่ไหน
และที่มุมด้านซ้ายของเอกสารจะบอกถึงห้องชุดเลขที่ ชั้นที่ อาคารเลขที่ ชื่ออาคารชุด และสุดท้ายเป็น ทะเบียนอาคารชุด

- ห้องชุดเลขที่ ก็จะเหมือนกับบ้านเลขที่ ของห้องชุดห้องนั้น
- ชั้นที่ ก็คือตำแหน่งที่ตั้งของห้องชุดในอาคาร
- อาคารเลขที่ ก็จะหมายถึงชื่อของอาคาร ในโครงการนั้นๆ (หากมีหลายอาคาร)
- ชื่ออาคารชุด อันนี้ ก็ตรงๆส่วนมากก็จะเหมือนกับชื่อโครงการ ตอนผู้ขาย แจ้งขาย
- ทะเบียนอาคารชุดหมายถึงอาคารชุดนั้น ไปจดทะเบียนอาคารชุดที่กรมที่ดิน ไว้ที่ปีไหน ซึ่งการจะไปจดเลขทะเบียนอาคารชุด จะจดได้ก็ต่อเมื่อคอนโด สร้างเสร็จแล้ว เช่น ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 3/2554
 3  ความหมายคือลำดับในการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่ๆคอนโดนั้นๆ ตั้งอยู่
2554  ความหมายคือปีที่ไปทำการจดทะเบียน

ดังนั้นหากอยากทราบว่าโครงการนั้น สร้างมานานหรือยัง ก็จะสามารถทราบได้จากตรงนี้ ครับ (ปีปัจจุบันลบด้วยปีที่จดทะเบียนอาคารชุด) แต่อาจจมีข้อยกเว้นสำหรับคอนโด ที่สร้างไม่เสร็จใน 1-2 ปีนะครับ เช่นบางโครงการอาจจะมีที่สร้างทิ้งไว้หลายๆปี แล้ว มาสร้างต่อทีหลัง  แต่โดยส่วนมากแล้วคอนโดที่ไม่มีปัญหาอะไร มักจะเร่งสร้างให้เสร็จใน 1-2 ปี เพราะสร้างเสร็จเร็วก็ขายได้เร็ว(รับรู้รายได้ ได้เร็ว)

* เลขทะเบียนอาคารชุดจะสามารค้นได้อีกทางนึงคือจากเว็บไซด์ของกรมที่ดินครับ (หากทราบชื่อจดทะเบียนอาคารชุด)
http://www2.dol.go.th/~isbase/lbcporn/searchcondo_p.htm

                ถัดลงมาก็จะเป็นชื่อบริษัทผู้พัฒนาโครงการอยากรู้ว่าบริษัทที่สร้างนั้นเป็นใคร (น่าเชื่อถือหรือ น่าหลีกเลี่ยงหรือไม่)  ยิ่งหลังๆนี้ มีหลายๆบริษัทหน้าใหม่ของวงการคอนโดเข้ามาทำคอนโด เยอะ ซึ่งบางบริษัทอาจจะทำได้ดีกว่าบริษัทผู้พัฒนาเดิมหรือ อาจจะทำได้แย่กว่า ตรงนี้ก็คงต้องศึกษาข้อมูลดีๆครับ

               ตรงกลางของเอกสารก็จะเป็นแผนผังห้องชุด ขอบเขตของห้องชุดหรือคอนโดเราเป็นอย่างไรก็ดูได้จากตรงนี้แหละครับซึ่งปกติแล้วแต่ละด้านจะมีขนาดความยาวของแต่ละด้านกำกับไว้ และปกติจะมีมาตราส่วนเขียนกำกับไว้ใต้แผนผังห้องชุด
ส่วนมากจะเป็น1100 นั่นก็คือหากวัดในเอกสารได้ 1 เซนติเมตรจะแทนด้วยพื้นที่จริง 100 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร นั่นเอง
ส่วนท้ายสุดเลยก็จะเป็นเนื้อที่ห้องชุด ซึ่งจะมีหน่วยเป็นตารางเมตร (ต่างจากที่ดินทีมีหน่วยเป็นตารางวา) อัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง และวันที่ออกเอกสารสิทธิ์

             ในส่วนสุดท้ายนี้จะระบุความหมายไ ว้2 ส่วนหลักๆ คือ
1. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล คือเนื้อที่ของห้องชุด
2. กรรมสิทธิ์ทรัพย์ส่วนกลาง คืออัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ที่จะบอกว่าในทรัพย์สินส่วนกลางทั้งหมด เราถือสัดส่วนอยู่เท่าไหร่


เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ส่วนบุคคล ก็จะมีลักษณะแบบนี้ซึ่งในบทความต่อไปจะกล่าวถึง ทรัพย์ส่วนกลาง
โดยที่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับ 
ทรัพย์ส่วนบุคคลก็จะเป็น อช. 2 หรือ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
ทรัพย์ส่วนกลาง เอกสารที่เกี่ยวข้องและเราควรต้องตรวจสอบดูอีกอย่างคืออช.10 หรือ หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด

หนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด” ซึ่งชื่อก็บอกไว้ชัดเจนอยู่แล้วครับว่าเป็นหนังสือสำคัญ แต่จากประสบการณ์ที่พบมา หลายท่านที่ซื้อ อาคารชุดหรือ คอนโด ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ซึ่งในบทความต่อไปจะมาแชร์ให้ทราบครับว่ามีความสำคัญหรือมีข้อมูลอะไรเกี่ยวข้องกับเอกสารนี้บ้าง

* ขอสงวนสิทธิ์บทความนี้ไว้นะครับ 
แสดงความคิดเห็น
Copyright © 2014 Life Sabuy , คอนโดมิเนียม , คอนโด , ราคาประเมิน, ซื้อคอนโด, ราคาคอนโด, ขายคอนโด
www.lifesabuy.com