BREAKING NEWS

condo living

Property

Category 7

From our Blog

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Valuation แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Valuation แสดงบทความทั้งหมด

Area Calculator Tool : วัดขนาดเนื้อที่ดิน(ไร่-งาน-ตาราวา) ออนไลน์ ด้วย Map Longdo

 - วัดขนาดเนื้อที่ดิน ออนไลน์ ด้วย Map Longdo.com -

ในครั้งก่อนได้แนะนำ Google Map ที่มี tools ช่วยให้เราสามารถ วัดขนาดเนื้อที่ดินได้จากอินเตอร์เน็ต

มาคราวนี้เราจะมาแนะนำอีกหนึ่งเว็บ  ที่มีผลิตภัณฑ์ในลักษณะของ web application คล้ายกับ Google Map แต่มีผู้พัฒนาเป็นคนไทย นั่นคือ map.longdo.com  เมื่อเข้าตามลิงค์ เราจะได้เว็บเป็นแผนที่ คล้ายๆดังรูปนี้

*ภาพประกอบจาก map.longdo.com

จากเมนูของเว็บ เราสามารถเลือกแผนที่ฐานที่ต้องการได้ มี Google Map และ TomTom ด้วย  


1.จากนั้นให้เราเลื่อนแผนที่ไปยังบริเวณที่ดินที่เราสนใจอยาก รังวัดขนาดเนื้อที่ของที่ดิน นั้นๆ  

2.จากนั้นทำการคลิกที่ปุ่มเครื่องมือวัดพื้นที่บริเวณมุมขวาล่างของหน้าจอแผนที่ เมื่อเอาเมาท์ไปคลิกจะมีคำว่า "Measurement" ลอยขึ้นมา เพื่อแสดงว่าเรากำลังเข้าสู่โหมดการวัดพื้นที่


3. จากนั้นเลื่อนเมาท์ไปคลิกมุมแปลงทีดินมุมอื่นๆของแปลงที่ดินที่ต้องการวัด โดยในทุกๆ การคลิกบนแผนที แผนที่ จะทำการคำนวณระยะทางไปเรื่อยๆ



4. เมื่อทำการวัดครบทุกมุมแปลงที่ดินจนเป็นลักษณะรูปพื้นที่ปิด  Map จะคำนวณพื้นที่ของเส้นรอบปิดนั้นๆ  คล้ายการวัดพื้นที่ด้วย Google Map เพียงแต่ของ map.longdo.com จะบอกพื้นที่เป็นหน่วยวัดพื้นที่ดินของไทยคือ ไร่-งาน-ตารางวา


5. หากสมัครเป็นสมาชิกเว็บของ map.longdo.com ก็จะสามารถบันทึกลิงค์ไว้ใช้ในครั้งต่อไปหรือแชร์ต่อไปให้คนอื่นใช้ต่อได้ด้วย

แต่หากจะแชร์เป็นสาธารณะ แผนที่นั้นจะต้องถูกตรวจสอบจากทีมงานของ map.longdo.com ก่อนนะครับ
เป็นผลงานของคนไทย น่าสนใจเลยทีเดียว  แวะไปใช้บริการและให้กำลังใจกันได้เลย

ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 4

 - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 4 - 

    ภาคต่อจาก การ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 3 –  จากที่ทาง lifesabuy ได้นำเสนอไปถึง 3 ตอนแล้วนัน และปัจจุบัน ล่าสุด ( ก.ย.2558) เว็บไซด์ของกรมที่ดิน http://dolwms.dol.go.th/ ก็กลับมาให้เราได้ใช้งานกันแล้ว โดยมีหน้าตาของเว็บเปลี่ยนไป

    การใช้งานก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ คล้ายๆ กับ ทางเนื้อหาของ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ - นั่นคือ ป้อนชื่อจังหวัด อำเภอที่ตั้งของโฉนดที่ดิน ตามที่ปรากฏอยู่ตามหน้าเอกสาร และตามเลขที่โฉนดที่ดิน จากนั้นก็ใช้เม้าส์คลิกบริเวณปุ่ม ค้นหาข้อมูล  หากโฉนดที่ดินนั้นๆ มีอยู่ในฐานข้อมูลที่ดินของกรมที่ดิน แผนที่ก็จะเปลี่ยนไปยังตำแหน่งที่ตั้งของแปลงที่ดินนั้น



 ตัวอย่าง


      จากรูปผมลองใส่ตัวอย่างเลขที่โฉนดลงไป ข้อมูลที่เกี่ยวกับที่ดิน เช่น หมายเลขระวาง, เลขที่โฉนด, เลขที่ดิน พร้อมแสดงค่าพิกัด GPS ที่โฉนดทีดินนั้นตั้งอยู่ แสดงไว้ให้ด้วย พร้อมคำเตือน
ข้อมูลที่เผยแพร่ใช้ในการหาตำแหน่งแปลงที่ดินเท่านั้น ไม่สามารถเป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ กรุณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่สำนักงานที่ดินอีกครั้ง


            รูปแบบของเลเยอร์แผนที่ Google ที่แสดงจะมี 2 แบบ คือแบบแผนที่ปกติ และ แผนที่ดาวเทียม โดยสามารถปรับรูปแบบของแผนที่ได้ทางมุมขวาของแผนที่
      

       และสิ่งสำคัญสำหรับการใช้แผนที่ลักษณะนี้คือ  การค้นหาตำแหน่งนี้ใช้เพื่อการค้นหาเบื้องต้น อาจจะมีการคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ควรตรวจสอบรูปแบบที่แสดงในเอกสารสิทธิ์ ประกอบด้วย และหากต้องการตรวสอบตำแหน่งที่ถูกต้องควรไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดิน ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่จะมีความถูกต้องที่สุด 

ต้องขอขอบคุณกรมที่ดิน ที่พยายามทำให้เว็บไซด์นี้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ที่พยายามให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นแบบนี้ ได้จากเว็บไซด์ ลองใช้งานกันดู ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยหรืออยากปรึกษาการค้นหาแปลงที่ดิน สามารถเมลล์มาสอบถามได้ที่ admin ได้ครับ

แสดงความคิดเห็น

วัดขนาดเนื้อที่ดิน ออนไลน์ ด้วย Google Map

 - วัดขนาดเนื้อที่ดิน ออนไลน์ ด้วย Google Map-


ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการใช้ชีวิตของมนุษย์เราให้ง่ายขึ้นในหลายๆด้าน Google ก็เป็นหนึ่งในบริษัท ที่มีผลิตภัณฑ์ในลักษณะของ web application ออกมาหลายรายการ วันนี้ เราจะแนะนำ google map ที่มี tools ช่วยให้เราสามารถ วัดขนาดเนื้อที่ดิน ออนไลน์ ด้วย Google Map (ใช้บริการผ่าน www.google.co.th/maps) เมื่อเข้าตามลิงค์ เราจะได้เว็บเป็นแผนที่ คล้ายๆดังรูปนี้

*ภาพประกอบจาก www.google.co.th/maps



1.จากนั้นให้เราเลื่อนแผนที่ไปยังบริเวณที่ดินที่เราสนใจอยาก รังวัดขนาดเนื้อที่ของที่ดิน นั้นๆ  

2.จากนั้นทำการคลิกขวาบริเวณมุมแปลงที่ดินที่จุดเริ่มต้นจะทำการวัดขนาดพื้นที่ โดยจะมีหน้าต่างเครื่องมือขึ้นมาให้ผู้ใช้งานเลือก (ในที่นี้เลือกวัดระยะทาง)

3. จากนั้นเลื่อนเมาท์ไปคลิกมุมแปลงทีดินมุมอื่นๆของแปลงที่ดิน โดยในทุกๆ การคลิกบนแผนที Google Map จะทำการคำนวณระยะทางไปเรื่อยๆ

4. เมื่อทำการวัดครบทุกมุมแปลงที่ดินจนเป็นลักษณะรูปพื้นที่ปิด Google Map นอกจากจำคำนวนระยะทาง (หรือเส้นรอบพื้นที่)ให้แล้ว เมื่อคลิกจนเป็นเส้นปิด Google Map จะคำนวณพื้นที่ของเส้นรอบปิดนั้นๆ โดยตัวอย่างจากรูป พื้นที่ๆ คำนวนได้คือ 27,061.2 ตารางเมตร แต่เนื่องจากหน่วยการวัดพื้นที่ของที่ดินในบ้านเรา มีหน่วยเป็น ตารางวา (4 ตารางเมตร เท่ากับ 1 ตารางวา) ดังนั้นพื้นที่ๆคำนวนได้คือ

- 27,061.2 ตารางเมตร / 4 = 6,765.3 ตารางวา (หรือประมาณ 16 ไร่กว่า)

ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถนำมาประยุกต์ช่วยในการรังวัด หรือวัดพื้นที่ ที่ดินของเราหรือที่ดินที่เราสนใจ ได้ดีในระดับหนึ่ง แล้วพบกันในครั้งต่อไป ที่ lifesabuy.com จะนำเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับที่ดินมาฝากกัน

ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 3 -

- ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 3 -



    ภาคต่อจาก การ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2 -  ที่ทาง lifesabuy ได้นำเสนอไปในครั้งก่อนนั้น เนื่องจากล่าสุด ( มิ.ย.2558) เว็บไซด์ของกรมที่ดิน http://dolwms.dol.go.th/ ได้เกิดปัญหาขัดข้อง ไม่สามารถใช้งานมาช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เราไม่สามารถใช้งานการเช็คตำแหน่งที่ตั้งของที่ดิน จากเว็บไซด์ แต่ถึงอย่างไร วันนี้เราจะมาแนะนำเว็บไซด์อีก เว็บไซด์ ที่สามารถใช้งานทดแทนได้ เพราะใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน เพียงแต่เป็นของหน่วยงาน กรมธนารักษ์ โดยมีชื่อระบบว่า


เป็นเว็บไซด์แผนที่ดิจิตอล ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

 



    การใช้งานก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ คล้ายๆ กับ ทางเนื้อหาของ - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2 - นั่นคือ ป้อนชื่อจังหวัด อำเภอที่ตั้งของโฉนดที่ดิน ตามที่ปรากฏอยู่ตามหน้าเอกสาร และตามเลขที่โฉนดที่ดิน จากนั้นก็ใช้เม้าส์คลิกบริเวณปุ่ม ค้นหา  หากโฉนดที่ดินนั้นๆ มีอยู่ในฐานข้อมูลที่ดินของกรมที่ดิน แผนที่ก็จะเปลี่ยนไปยังตำแหน่งที่ตั้งของแปลงที่ดินนั้น



ตัวอย่าง



      จากรูปผมลองใส่เลขที่โฉนดตามที่นึกได้ลงไปครับ ข้อมูลที่เกี่ยวกับที่ดิน เช่น รอบบัญชีราคาประเมิน, เลขที่โฉนด, หน้าสำรวจ, เลขที่ดิน, เลขที่ระวาง พร้อมแสดงราคาประเมินราชการที่หน่วยงานของ กรมธนารักษ์ ได้ทำการประเมินไว้ แสดงไว้ให้ด้วย พร้อมทั้งยังสามารถตรวจสอบราคาประเมินราชการย้อนหลังได้ด้วย (ราคาประเมินราชการใช้ในการทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดิน)


      
       เช่นเดียวกันกับที่นำเสนอไปในครั้งก่อน  - ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2   นั่นคือ      การค้นหาตำแหน่งนี้ใช้เพื่อการค้นหาเบื้องต้นนะครับ อาจจะมีการคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้สามารถสอบถามราคาประเมิน โทร. 02 142 2456-7 สอบถามวิธีการใช้งานระบบ โทร. 02 615 8900-4 ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมธนารักษ์ 

      ถือเป็นการริเริ่มที่ดี ที่พยายามให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นแบบนี้ ได้จากเว็บไซด์ ลองใช้งานกันดู ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยหรืออยากปรึกษาการค้นหาแปลงที่ดิน สามารถเมลล์มาสอบถามได้ที่ admin ได้ครับ

แสดงความคิดเห็น

ราคาซื้อขายที่ดินในปี 2014

- ราคาซื้อขายที่ดินในปี 2014 -


          ในปี 2014 นี้ตลาดคอนโดอาจจะดูเงียบเหงาลงไปบ้าง แต่ก็มีโครงการใหม่ๆ ทยอยเปิดตัวอยู่เรื่อย ๆเพียงแต่ ตลาดคอนโดอาจจะไม่ดูไม่แรงเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจจะด้วยดีมานด์กับซัพพลายเริ่มไม่สมดุลกัน ผู้พฒนาโครงการหลายๆ แห่งก็อาจจะกำลังดูสถาณการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
         
          ย้อนกลับไปดูที่วัตถุดิบในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ นั่นก็คือที่ดิน กันหน่อยนะครับ เพราะล่าสุดที่ทางผู้เขียนตรวจสอบข้อมูลได้ พบว่ามีการทำสถิติของราคาซื้อขายที่ดินจาก 1.5 ล้านบาท/ตารางวา ขยับไปที่  1.7 ล้านบาท/ตารางวา ไปเรียบร้อยครับ



       ด้วยราคาที่ดิน 1.7 ล้านบาท/ตารางวา ถ้าพูดถึงทำเลก็คงต้องเป็นทำเลพรีเมี่ยมจริงๆ มูลค่าที่ดินถึงได้สูงขนาดนี้ ท้้งนี้ แปลงนี้เป็นที่ดินติดถนนสุขุมวิทต้น ๆ และติดรถไฟฟ้า BTS ด้วย ราคาที่ดินถึงมีการซื้อขายที่สูง และด้วยราคาที่ดินขนาดนี้ หากนำมาพัฒนาโครงการคอนโดด้วยแล้ว ยังไม่กล้าคิดถึงราคาขายของคอนโดว่าจะสูงไปกี่แสนบาท/ตารางเมตร

       แต่จริงๆแล้ว ราคาซื้อขายที่สูงที่สุดในปัจจุบันไม่ใช่แปลงที่เอ่ยถึงไปนะครับ หากไม่ได้มองที่เงื่อนไขการขาย ราคาซื้อขายที่ดินที่แพงที่สุดที่มีการโอนไปเมื่อปี 2013 อยู่ที่ราคา 2 ล้านบาท/ตารางวา แต่เนื่องจากแปลงนั้นเป็นการซื้อขายในลักษณะพิเศษ ที่ผู้ซื้อมีความต้องการที่ดินแปลงนั้นมาก จึงส่งผลให้ราคาซื้อขายสูงมากกว่าสภาวะปกติในบริเวณนั้น (บริเวณสุขุมวิท 24) และแปลงนั้นก็นำมาพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดและเปิดขายไปแล้วเรียบร้อยโดยมีราคาขายคอนโดเริ่มต้นที่ 1.45 แสนบาท/ตารางเมตร


เพิ่งเริ่มปี 2014 มาไม่เท่าไหร่ ราคาซื้อขายที่ดินทะลุไปที่ 1.7 ล้านบาท/ตารางเมตร เรียบร้อย คงไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าในปีนี้หากเราลองค้นหาราคาเสนอขายที่ดินในทำเลพรีเมี่ยม จะพบราคาเสนอขายที่ดิน 2 ล้านบาท/ตารางวากันมากขึ้น นี่ละครับ อสังหาริมทรัพย์ ทีหลายๆคนบอกว่า มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
แสดงความคิดเห็น

ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2

- ตรวจสอบโฉนดที่ดิน - ตอนที่ 2 -



    ในครั้งก่อนเราได้พูดถึง การ ตรวจสอบโฉนดที่ดิน กันไปแล้ว ซึ่งในการตรวจสอบนั้น บุคคลทั่วไปสามารถดำเนินการได้เลยครับ เพียงแต่ว่าอาจจะมีขั้นตอนดำเนินการสักเล็กน้อย แต่อาจจะมีบางท่านที่อาจจะมีโฉนดที่ดินอยู่ในมืออยู่แล้ว และแค่ต้องการดำเนินการตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของที่ดิน

     กรมที่ดินก็ได้พัฒนาแผนที่ web application ร่วมกับ Google Map ผ่านทางเว็บไซด์


     โดยมีหน้าตาตามรูปด้านล่างนี้ครับ ก็คล้ายๆ Google Map ทั่วไป เพียงแต่มีเลเยอร์ของแปลงที่ดินจากระวางกรมที่ดินซ้อนอยู่อีกเลเยอร์หนึ่ง (เส้นสีแดงๆ)


    การใช้งานก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ป้อนชื่อจังหวัด อำเภอที่ตั้งของโฉนดที่ดิน ตามที่ปรากฏอยู่ตามหน้าเอกสาร และตามเลขที่โฉนดที่ดิน จากนั้นก็ใชเม้าส์คลิกบริเวณปุ่ม ค้นหา  หากโฉนดที่ดินนั้นๆ มีอยู่ในฐานข้อมูลที่ดินของกรมที่ดิน แผนที่ก็จะเปลี่ยนไปยังตำแหน่งที่ตั้งของแปลงที่ดินนั้น

ตัวอย่าง


      จากรูปผมลองใส่เลขที่โฉนดตามที่นึกได้ลงไปครับ หากท่านผู้อ่านที่เป็นเจ้าของที่ดิน หรือมีที่ดินที่สนใจจะซื้อแล้วอยากลองตรวจสอบโฉนดที่ดินเบื้องต้น โดยไม่ต้องไปตรวจระวางจากสำนักงานที่ดิน ก็ลองใช้วิธีนี้ดูครับ ถือว่าสะดวกและประหยัดเวลามาก

     ลองใช้เมาท์คลิกที่ปุ่มไอคอนสีแดงดูครับ จะมีรายละเอียดที่ตั้งและข้อมูลของแปลงที่ดินนั้นๆ พร้อมค่าพิกัดของแปลงที่ดิน ที่เราสามารถนำค่าไปป้อนในเครื่อง GPS หรือสมาร์ทโฟน เพื่อหากเราต้องการเดินทางไปยังแปลงที่ดินนั้นๆ (กรณีที่เราจำตำแหน่งแปลงที่ดินไม่ได้)



      การค้นหาตำแหน่งนี้ใช้เพื่อการค้นหาเบื้องต้นนะครับ หากต้องการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและอัพเดทข้อมูล ก็คงยังต้องใช้บริการตรวจเช็คจากกรมที่ดินจะถูกต้องมากกว่า

     และก็มีบางครั้งที่แผนที่แจ้งว่าไม่มีข้อมูลแปลงที่ดินนั้นๆ อาจจะด้วยทางกรมที่ดินยังไม่ได้อัพเดทข้อมูลแผนที่ หรือไม่โฉนดที่ดินก็อาจจะเพิ่งมีการแบ่งแยกแปลงที่ดินไป อาจจะทำให้ค้นหาข้อมูลไม่เจอ

ในครั้งนี้ขอจบบทความเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยหรืออยากปรึกษาการค้นหาแปลงที่ดิน สามารถเมลล์มาสอบถามได้ที่

lifesabuy13@gmail.com

ซึ่งหากมีส่วนอื่นๆ ที่สามรถตอบได้ หรือหากต้องการให้ช่วยค้นหาข้อมูลแปลงที่ดินเบื้องต้น ก็ส่ง email มาคุยกันได้ครับ 


แสดงความคิดเห็น

ราคาประเมิน

ราคาประเมิน

ในบทความแรกๆ เคยเขียนถึงความแตกต่างของราคาประเมิน ที่หลายๆ ท่านยังคงเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่างราคาประเมินราชการกับราคาประเมินทรัพย์สิน

ราคาประเมิน + ราชการ   คือ ราคาประเมินที่ออกจากหน่วยงานราชการ(กรมธนารักษ์)
ชื่อจริงๆ แบบเป็นทางการคือ  "ราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม"

ราคาประเมิน + ทรัพย์สิน โดยปกติแล้วคือราคาที่เป็นความเห็นว่าราคานั้นๆ เป็นราคาตลาด(fair value) ที่สามารถซื้อขายได้ตามปกติทั่วไป โดยไม่มีเงื่อนไขพิเศษใดๆ (เช่นผู้ขายรีบขาย หรือ ผู้ซื้ออยากได้ทรัพย์สินนั้นๆ เป็น  กรณีพิเศษ) โดยทั่วไป หน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นหน่วยงานที่วิเคราะห์ราคานี้ คือ บริษัทประเมินทรัพย์สิน

บริษัทประเมินทรัพย์สิน คือ หน่วยงานบริษัทเอกชนที่ตั้งขึ้นมาจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยแต่ละบริษัทจะมีสมาคมของบริษัทประเมินที่คอยควบคุมการทำงานของแต่ละบริษัท ให้มีมาตราฐาน และจรรยาบรรณ โดยมีสมาคมที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 สมาคม คือ



                โดยเราสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดของทั้ง 2 สมาคม ได้ตามเว็บไซด์(คลิกที่ชื่อสมาคม) รวมทั้งสามารถ ตรวจสอบรายชื่อนัก   ประเมินราคาทรัพย์สินที่ผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถได้จากเว็บไซด์ของทั้ง 2                   สมาคม
                
               ดังนั้น ก่อนทำการประเมินราคา ควรมีการตรวจสอบรายชื่อบริษัทประเมิน ที่เราจะรับบริการ ว่าอยู่ในรายชื่อ    และการควบคุมจากทั้ง 2 สมาคม หรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะได้รับบริการจากการทำงานของบริษัทประเมิน                ที่มีมาตราฐานที่ดี

แสดงความคิดเห็น

ราคาประเมินราชการ กับ ราคาประเมินทรัพย์สิน

ราคาประเมินราชการ กับ ราคาประเมินทรัพย์สิน

ราคาประเมินราชการ กับ ราคาประเมินทรัพย์สิน ทั้ง 2 คำนี้มองดูแล้วมีลักษณะคล้ายกัน และมีบางครั้งที่ราคาประเมินทรัพย์สินเท่ากับราคาประเมินราชการ  แต่ก็มีบางครั้งที่ราคาประเมินราชการสูงกว่าราคาประเมินทรัพย์สิน(ส่วนมากเป็นต่างจังหวัด)  แต่ที่มาและวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกัน


"ราคาประเมินราชการ" ชื่อจริงๆ แบบเป็นทางการคือ "ราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม" ที่จัดทำขึ้นโดย กรมธนารักษ์ เพื่อให้หน่วยงานราชการหรือหลักๆ ก็คือกรมที่ดิน นำไปใช้ประกอบการจดทะเบียนต่าง ๆ ซึ่งในการประกาศใช้แต่ละรอบบัญชี จะมีอายุ 4 ปี (รอบปัจจุบัน พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2558)


โดยที่มาของ ราคาประเมินราชการ  กรมธนารักษ์ จะใช้ข้อมูลราคาซื้อขายที่มีการแจ้งจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานทีดิน เช่น ราคาประเมินที่ประกาศใช้ในรอบปี พ.ศ. 2555 ก็จะเป็น ราคาซื้อขายที่มีการจดทะเบียนไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2553 มาจัดทำข้อมูลเพื่อออกเป็นบัญชีราคาประเมินราชการ ซึ่งโดยทั่วไป อย่างที่้ทราบๆกัน คือ บางครั้ง ราคาที่มีการจดทะเบียน ประชาชนบางท่านอาจไม่ได้แจ้งตรงกับที่มีการซื้อขายจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง

โดยการจัดทำ จะเป็นการพิจารณาตามโซนพื้นที่ เช่น ตามช่วงถนน ช่วงซอย ที่มีลักษณะกายภาพใกล้เคียงกัน แล้วใช้ตัวแทนราคาที่มีการแจ้งจดมาคำนวณเป็นตัวแทนออกเป็นบัญชีราคาประเมินราชการ
ดังนั้นราคาประเมินราชการทั่วไป จะต่ำกว่าราคาที่มีการซื้อขายในสภาวะปัจจุบัน ทำให้บางครั้งข้อมูลราคาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประเด็นนี้ก็คือ หากราคาตลาด(ราคาซื้อขาย)มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น (เศรษฐกิจดีขึ้น) ก็จะทำให้ราคาตลาดสูงกว่าราคาประเมินราชการไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป (ราคาประเมินราชการ 1 รอบบัญชี มีอายุ 4 ปี) แต่กลับกันหากสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจแย่ลง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ (เช่นปี พ.ศ.2540) ราคาตลาดอาจตกลงมาก (เพราะมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ) ก็จะทำให้ราคาซื้อขายต่ำกว่าราคาประเมินราชการได้ (เพราะราคาราชการไม่ได้ขยับตาม ถ้ายังไม่ถึงรอบบัญชี)

* ขออนุญาตนำภาพประกอบจาก  บริษัทเซ็นจูรี 21ฯ มาประกอบให้เข้าใจยิ่งขึ้นครับ

การกำหนดราคา ผู้กำหนดราคาคือ กรมธนารักษ์ ใช้เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ออกสำรวจภาคสนามและทำการประเมินให้ใกล้เคียงราคาตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดที่จำนวนแปลงที่ดิน ในประเทศไทยมีมาก
(เฉพาะที่มีเอกสารสิทธิ์มีกว่า 30 ล้านแปลง) อีกทั้งยังมีอาคารชุด(คอนโดอีกหลายโครงการ) แต่เจ้าหน้าที่มีอยู่จำกัด บางครั้งการสำรวจอาจไม่ทั่วถึงและทันเหตุการณ์


ปัจจุบัน กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการทดลอง ให้ บริษัทประเมิน เอกชน เข้ามาช่วยสำรวจและวิเคราะห์ราคาประเมิน(อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมธนารักษ์) เพื่อให้ราคาประเมินราชการมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น  โดยปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) พื้นที่ที่จัดให้บริษัทเอกชน เข้ามาช่วยดำเนินการ คือ จ.สะบุรี(บางอำเภอ)

"ราคาประเมินราชการ" นำมาใช้เพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรสแตมป์ ในการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์

"ราคาประเมินทรัพย์สิน" นำมาใช้ประกอบการขอสินเชื่อ, หาผู้ร่วมลงทุน, กำหนดราคาซื้อขาย, นำประกอบข้อมูลจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯ

ดังนั้น ราคาทั้งสองประเภทจึงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เนื่องจากมีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกัน
แสดงความคิดเห็น

วิธีการประเมินราคาห้องชุดพักอาศัย

วิธีการประเมินราคาห้องชุดพักอาศัย

ปกติแล้วการประเมินราคาโดยหลักการจะใช้กฎเกณท์ที่ว่า “Highest and Bestuse” ซึ่ง ถ้าเป็นที่ดินเปล่าก็จะมองดูที่ว่า ที่ดินแปลงนั้น จะสามารถนำไปพัฒนาเป็นอะไรแล้วจะสามารถให้ผลตอบแทนกลับมาดีที่สุด ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นที่ว่า ราคาที่ดินต่อตารางวาของที่ดินแปลงเล็กจะแพงกว่า ราคาที่ดินแปลงใหญ่ เพราะบางครั้ง ที่ดินแปลงใหญ่จะพัฒนาทำประโยชน์ได้ดีกว่าที่ดินแปลงเล็ก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องถูกต้องตามกฎหมายและสามารทำได้จริง

เอาละครับที่เกริ่นมาเสียนาน(คนอ่านคงสงสัยว่ามันเกี่ยวกับหัวข้อตรงไหน) ก็เกริ่นพอให้เข้าใจหลักการประเมินราคา ทั้งนี้ ข้อมูลตรงนี้เขียนโดยประสบการณ์ครับ เอาเป็นว่าอ่านเอาเป็นความรู้สามัญประจำสมองละกันนะครับ
สมมุติว่าเราซื้อคอนโดห้องนึง 
- ขนาดพื้นที่ 54.10 ตารางเมตร ชั้น 6 เรื่องราคาที่ตกลงซื้อกันผมขอไม่พูดถึงนะครับเพราะราคาซื้อขายมันเป็นราคาที่พึงพอใจตกลงซื้อขายกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งบางครั้งราคานั้นอาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาตลาดก็เป็นได้ทั้ง 2 กรณี ก็ไม่ผิดปกติแต่อย่างไร
ซึ่งลักษณะการติดต่อจากประเมินก็จะไม่ขอกล่าวถึงนะครับ เพราะเคยเขียนไปแล้ว จากการสำรวจวัดขนาด ถ่ายรูปภายในห้องเสร็จ ก็จะต้องมีการตรวจสอบเรื่องพื้นที่ส่วนกลาง, ลักษณะถนนทางเข้า, อายุอาคาร ฯ
เจ้าหน้าที่ประเมินก็จะมีการตรวจสอบราคาเสนอขายหรือราคาซื้อขาย จากทั้งภายในโครงการเอง, สำนักงานขาย, บอร์ดประชาสัมพันธ์ส่วนกลางของอาคาร หรืออื่นๆ ก็แล้วแต่นะครับ และเนื่องจากเป็นห้องชุดพักอาศัย ก็จะสามารถหาข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายกันมาเปรียบเทียบได้ง่าย เพราะหากสามารถหาภายในตึกเดียวกันได้ ก็จะมีตัวแปรที่เอามา compare ได้ง่าย เพราะถ้าเป็นคนละโครงการ หรือโครงการใกล้เคียงก็ต้องไปดูว่ามีอะไรที่เหมือนกันและแตกต่างกันบ้าง
อันนั้นรายละเอียดจะยากขึ้นอีกหน่อย ก็จะขอข้ามไปนะครับ( เอาไว้ให้เขาทำมาหากินกันบ้าง^__^)
สมมุติว่าได้ข้อมูลมา ตามตารางด้านล่าง ซึ่งจริงๆข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือราคาซื้อขาย ไม่ใช่ราคาเสนอขาย



ก็จะเอาข้อมูลมาเฉลี่ยต่อตารางเมตร ถ้าหากลักษณะอื่นๆเหมือนกัน เช่น มีเฟอร์นิเจอร์ มีบิวท์อินเหมือนกัน สิ่งที่ต้องก็จะมีเพียงทำเลและระดับชั้น ดังนั้นราคาประเมินของเราก็น่าจะได้ประมาณ 87,000 - 87,500 บาท / ตารางเมตร อันนี้เป็นเพียงหลักการง่ายๆนะครับ ซึ่งจริงการทำงานจะเช็ครายละเอียดมากกว่านี้ เพราะต้องการเขียนให้ท่านผู้อ่านที่ไม่เข้าใจเรื่องการประเมินราคา อ่านแล้วเข้าใจ เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบราคาประเมินของเราเบื้องต้นได้ ยิ่งหากเราทราบข้อมูลราคาซื้อขายก็จะยิ่งดี เพราะเราจะสามารถแนะนำข้อมูลเบื้องต้นให้กับคนที่ไปประเมินราคาให้เราได้ เพราะบางครั้งราคาเสนอขาย ช่วงราคามันอาจจะสูงหรือต่ำมากๆ การนำมาปรับเป็นราคาที่นำมาใช้ปรับราคากับทรัพย์สินของเรา บางครั้งอาจทำให้ราคาผิดพลาดได้ 

เนื่องจากบทความนี้ผู้เขียนได้เขียนไว้นานแล้วใน bloggang ซึ่งมีความเห็น ท่านนึงอาจจะยังเข้าใจผิดกับคำว่า

"ราคาประเมินทรัพย์สิน" กับ "ราคาประเมินทรัพย์สินราชการ"

2 คำนี้ ดูเหมือนคล้ายกัน ซึ่งจริงๆแล้วที่มาของข้อมูลก็คล้ายกัน คือ มาจากราคาซื้อขายจริง หรือ มาจากราคาซื้อขายจริงที่มีการจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานที่ดิน ก็ขอเกริ่นไว้เบื่องต้นก่อน เอาไว้ในลำดับต่อไปจะมาขยายความหมายของ 2 คำนี้ครับ


แสดงความคิดเห็น

การสำรวจทรัพย์สินเพื่อการประเมินราคา

การสำรวจทรัพย์สินเพื่อการประเมินราคาทรัพย์สินราคา

จากบทความที่แล้วได้บอกถึงการเตรียมตัวที่จะต้องประเมินราคาทรัพย์สิน คราวนี้จะพูดถึงวันที่เจ้าหน้าที่เขานัดประเมิน มาถึง หลักๆเลยเขาก็จะไปตามจุดที่นัดหมาย หากไปไม่ถูกก็คงมีการโทรมาสอบถามทางกับผู้นัด 

หลักการทำงานของเจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์สิน หลักๆ เลยก็แบ่งเป็น 4 ส่วน

1.การตรวจสอบเอกสารสิทธิ์
2.การตรวจสอบทรัพย์สิน
3.การตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบ 
4.ทำเล่มรายงานและวิเคราะห์ราคา


ขั้นตอนที่ 1 – 3 จะทำ ณ วันสำรวจ ส่วนขั้นตอนที่ 4 จะทำหลังจากวันสำรวจ (หรือเขาอาจจะขยันทำวันเดียวกันเลยก็ได้ ไม่ผิดอะไร ) โดยขั้นตอนที่ 1 -3 นี่ ไม่จำเป็นครับว่าต้องทำขั้นตอนไหนก่อน ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่ สถานการณ์ครับ สมมุติว่าเขาอาจจะไปตรวจสอบเอกสารสิทธ์ที่สำนักงานที่ดินก่อนเวลาที่นัดเราก็ได้ครับ และเมื่อไปตรวจสอบเอกสารสิทธ์มาแล้ว ที่นี่เขาจะรู้ตำแหน่งที่ตั้งของทรัพย์สินแล้วว่าอยู่บริเวณไหน เขาก็อาจจะเลยไปเก็บข้อมูลเปรียบเทียบก่อนเข้าไปสำรวจทรัพย์สิน หรือ อาจจะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินแล้วค่อยไปเก็บข้อมูลเปรียบเทียบแล้วค่อยไปตรวจสอบเอกสารสิทธ์ที่สำนักงานที่ดินก็ได้ครับ ไม่มีกฎเกณฑ์ ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์มากกว่าครับ ซึ่งในส่วนของ เรื่องการตรวจสอบเอกสารสิทธ์, การตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบ ถ้ามีเวลาผมจะมาเขียนให้อ่านกัน เพราะจริงๆขั้นตอนพวกนี้ผู้ซื้อเองก็น่าจะตรวจสอบเองด้วย เพราะจะได้รู้ราคาประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเอง(หากไม่ใช่ทรัพย์สินซับซ้อนอะไร) เพราะพอราคาออกมาถ้าราคาประเมินมันต่ำเกินไปเราจะได้ สอบถามกับเจ้าหน้าที่เขาได้ว่าเพราะอะไร เพราะบางครั้งหากผู้ประเมินทรัพย์สินขาดความชำนาญและการตรวจสอบที่ดี บางครั้งเขาอาจได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องซึ่งอาจมีผลต่อราคาประเมินของเราก็ได้ครับ 

เกริ่นมานานละ พอถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ประเมินเข้าไปตรวจสอบอาคารทรัพย์สิน หลักๆที่เขาต้องดู ก็เรื่องขนาดเนื้อที่ดิน หน้ากว้าง ตำแหน่งทีตั้ง ลักษณะรูปแปลงที่ดิน ว่าตรงกับเอกสารสิทธ์หรือไม่ จากนั้น ถ้ามีสิ่งปลูกสร้างเขาก็จะเข้าตรวจสอบภายในอาคาร หากมีแปลนอาคารก็จะตรวจสอบว่าแปลนอาคารนั้นตรงกับพื้นที่ก่อสร้างจริงหรือไม่ มีการก่อสร้างลุกล้ำที่ดินแปลงอื่นหรือไม่ หากไม่มีแบบแปลนก็ต้องมีการวัดขนาดอาคารแล้วร่างแปลนขึ้น ถัดไปก็จะดูลักษณะการตกแต่ง การแบ่งพื้นที่ใช้สอย มีข้อแนะนำ สำหรับผู้พาเจ้าหน้าที่สำรวจ อย่าไปหงุดหงิดเวลาเขาขอดูห้องนั้นห้องนี้ อยากให้มองในแง่ดีว่าเขาเป็นคนทำงานละเอียดนะครับ แต่ถ้าบางครั้งอาจจะมีห้องที่เราไม่สะดวกหรือมีแขกก็อาจจะบอกกล่าวและขอยกเว้นก็ได้ครับ ตรงนี้อย่างที่เคยบอก ก็น่าจะประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง ครับ หากเป็นอาคารหลังใหญ่ก็คงดูกันนานขึ้นครับ ยิ่งตึกใหญ่ๆ ประเภท อาคารศุนย์การค้า อาคารสำนักงาน นี่ก็คงสำรวจกันเป็นวันๆ เลยครับ 

หลังจากที่สำรวจอาคาร และที่ดินเสร็จ ก็นิดนึงนะครับ น้ำเย็นๆ ซักแก้ว ให้บริการกับเจ้าหน้าที่ก็น่าจะดีนะครับ ไม่ใช่เขาเดินเป็นชั่วโมงแต่เราไม่มีน้ำให้เขาทานเลย คือบางครั้งเขาใจว่าหลายๆท่านอาจจะลืมตรงนี้ไป มัวแต่เกร็งหรือมัวแต่กลุ้มเรื่องราคาประเมิน ซึ่งตรงนี้ ผมว่าอันนี้เป็นมารยาทแล้วก็เป็นวัฒนธรรมของคนไทยเราเลยนะครับ  (แต่ถ้าไม่ได้ทำก็ไม่ผิดแต่อย่างใด)

ซึ่งขั้นตอนต่างๆที่กล่าวไป ก็จะมีการถ่ายรูปไปด้วย หลักๆที่เขาถ่ายก็จะตั้งแต่ถนนทางเข้า ถนนผ่านหน้าอาคาร รูปทรงอาคาร บ้านเลขที่ รูปภายในอาคาร โดยรูปพวกนี่ที่ถ่ายไปหลักๆ ก็เอาไปประกอบการพิจารณาราคาแล้วก็ติดไปกับรูปเล่มรายงานที่ส่งให้กับธนาคารกับสถาบันการเงิน หากเขาทำทุกๆอย่างเสร็จก็ลองพูดคุยกับเขาถึงเรื่องอาคาร หรือเรื่องทั่วไปๆก็ได้ครับ เผื่อเจ้าหน้าที่ติดปัญหาอะไร เราจะได้ไขข้อข้องใจให้เขาได้เลย

แต่ถ้ามีแบบที่ว่าสรุปราคาให้เราเสร็จแล้วบอกว่าถ้าอยากได้ราคาสูงๆแล้วต้องมีค่าใช้จ่าย แนะนำเลยครับ อัดเทปไว้เลย โดยส่วนมากไม่อาจสรุปราคา ณ. เวลาที่สำรวจได้เลย เพราะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบทรัพย์สิน และถึงจะมีการตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินมาก่อน การพิจารณาและสรุปราคาไม่สามารถสรุปได้เลยครับ (อาจจะสรุปได้โดยประมาณ) เพราะต้องมีหัวหน้าหรือผู้ประเมินหลักตรวจสอบราคาอีกที หากราคาสูงไปหรือต่ำไปบางครั้งก็ไม่ผ่านตรวจสอบอยู่ดีครับ ระวังจะเสียเงินฟรี (ส่วนวิธีการอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ ผมคงไม่สามารถบอกได้ทั้งหมด เพราะทุกอย่างมีช่องว่างเสมอครับ) หลักๆในวันสำรวจประเมิน และตรวจสอบทรัพย์สินก็จะประมาณนี้ครับ

ในบทความข้างต้นมีการบอกถึงการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ ในบทความหลังๆ จะบอกถึงการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ ที่เราสามารถตรวจสอบเองเบื้องต้นได้ว่าเอกสารที่เราได้รับนั้น เป็นสำเนาหรือเป็นเอกสารตัวจริง ปัจจุบันใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นๆ มีภาระจำนองหรือเงื่อนไขพิเศษติดมากับทรัพย์สินที่เราสนใจหรือไม่
แสดงความคิดเห็น

การเตรียมตัวเมื่อเราต้องประเมินทรัพย์สิน

การเตรียมตัวเมื่อเราต้องประเมินทรัพย์สิน















หลังจากที่มีการยื่นเรื่องเพื่อจะขอสินเชื่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน (เมื่อคุณเตรียมพร้อมจะเป็นหนี้ก้อนโต) เจ้าหน้าที่จะขอสำเนาเอกสารบางส่วนจากคุณเช่น โฉนดที่ดิน, อช.2(เอกสารสิทธิ์ของคอนโด) ฯ สัญาจะซื้อจะขาย คราวนี้ เจ้าหน้าที่เขาจะติดต่อกับบริษัทประเมินที่มีอยู่ในลิสต์กับธนาคาร ซึ่งธนาคารแต่ละธนาคารไม่ได้รับเล่มรายงานของทุกบริษัทประเมิน ถ้าถามว่าทำไม ธนาคารถึงไม่เล่มของทุกบริษัท อันนี้ก็ไม่สามารถตอบแทนได้ทั้งหมด ก็อาจจะเป็นเรื่องของความพร้อม ความถูกต้องและมาตรฐานในการทำงานของบริษัทประเมินที่ธนาคารแต่ละธนาคารจะมีหลักเกณฑ์ของตนเองอยู่ หลังจากนั้น จะมีการติดต่อจากบริษัทประเมินตามหมายเลขโทรศัพท์ที่คุณแจ้งไว้กับธนาคาร ซึ่งจะมีการติดต่อสอบถามรายละเอียดเช่นตำแหน่งที่ตั้งของทรัพย์สินที่เรายื่นขอสินเชื่อ ถ้าเรามีแผนที่ ก็แนะนำให้ FAX แผนที่ตั้งของทรัพย์สินให้เขาด้วย, บางครั้งจะแจ้งค่าใช้จ่ายในการประเมิน ก็จะเป็นค่าดำเนินการประเมินทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าดำเนินการประเมินทรัพย์สิน ไม่ได้เป็นเรื่องรับรองว่าวงเงินที่คุณได้จากค่าประเมินจะเป็นเท่าไหร่ หากราคาประเมินต่ำกว่าหรือสูงกว่าวงเงินที่คุณขอกู้แล้วคุณกู้ไม่ผ่าน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่สามารถขอคืนได้ (เคยเจอว่ากู้ไม่ผ่านแล้วลูกค้าจะฟ้อง สมาคมคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอค่าประเมินทรัพย์สินคืน) ซึ่งปกติทั่วไปเขาจะมีใบเสร็จถือมาให้ด้วยในวันที่นัดประเมิน แล้วก็วันเวลานัดแล้วก็สุดท้ายก่อนการจบสนทนา คืออยากให้คุณขอเบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่ท่านนั้นไว้ด้วย เผื่อไว้ครับหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้สามารถติดต่อกันได้ 

อีกสิ่งที่อยากแนะนำคืออยากให้ท่าน เตรียมสำเนาเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับทรัพย์สิน อีกชุดนึงไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์สินในวันนัดประเมิน เช่น โฉนดที่ดินหากเป็นบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์ , ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหากเป็นบ้านก่อสร้างเอง, สัญญาจะซื้อ-จะขาย, อช.2 หากเป็นอาคารชุด ทรัพย์สิน เพราะว่าส่วนมากแล้ว เอกสารสิทธ์ที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินส่งให้กับบริษัทประเมินจะส่งเป็น fax ไปให้ ซึ่งบางครั้งเลขต่างๆในเอกสารอาจจะไม่ชัดเจน 

หลังจากที่เราติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประเมินทรัพย์สินเสร็จ จริงๆ ก่อนการนัดวันประเมินเราต้องมีการนัดกับเจ้าของทรัพย์สินปัจจุบัน หากเป็นบ้านใหม่ในโครงการจัดสรร คงไม่เท่าไหร่เพราะเราสามารถติดต่อกับสำนักงานขายของโครงการได้เลย แล้วพอถึงวันนัดหากท่านพอมีเวลาก็แนะนำให้ท่านไปด้วยตัวเองดีกว่าครับ เผื่อมีการสอบถามและพูดคุยเบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินนั้นๆ หรือถ้าไม่ว่างจริงๆ ท่านก็ฝากเรื่องไว้ กับเจ้าหน้าที่สำนักงานขายคนที่เราติดต่อไว้ก็ได้ แล้วอาจจะใช้วิธีการโทรศัพท์คุยกับเจ้าหน้าที่ประเมินภายหลัง ก็แล้วแต่สะดวก แต่หากเป็นบ้านมือสองเราก็ต้องติดต่อวันเวลาที่เราจะพาเจ้าหน้าที่ประเมินไป ก็เผื่อเวลาไว้บ้างนะครับ โดยปกติทั่วไปเวลาในการทำงานภายในอาคารทรัพย์สิน จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง เวลาที่ใช้ นี้ขึ้นอยู่กับขนาดของทรัพย์สิน หากมีรายละเอียดเยอะ หรือมีขนาดใหญ่ เวลาที่เขาใช้ทำงานก็จะมากขึ้น แต่โดยปกติทั่วไปเวลาที่ใช้ก็จะประมาณนี้
ที่ว่าต้องเผื่อเวลา ก็จะเป็นในส่วนของบางครั้งเจ้าหน้าที่ประเมินไปสาย หรือไปก่อนเวลา เพราะบางครั้ง ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่บางท่านเขาไม่ได้ประเมินของท่านรายเดียว ก็เผื่อไว้สักก่อนหน้าแหละหลังประมาณ 1 ชั่วโมงกำลังดี คือเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ประเมินต้องไปตรงเวลา แต่อย่างที่เข้าใจในการเดินทาง ยิ่งในกรุงเทพ ด้วยแล้วการเดินทางก็จะมีอุปสรรคพอสมควร ปกติเจ้าหน้าที่ประเมินก็จะคำนวณเวลาในการเดินทางไว้แล้ว แต่แนะนำว่าเผื่อไว้ดีกว่า เดี๋ยวพอถึงเวลาแล้วเขาไปสายจะหงุดหงิดใส่กัน ตรงนี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์อะไร แต่เป็นข้อแนะนำที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน

เบื้องต้นสำหรับการเตรียมตัวเมื่อถึงเวลาประเมินทรัพย์สินจะเป็นลักษณะของการจัดเตรียมเอกสารและการนัดแนะวันเวลาเพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ในบทความต่อไปจะกล่าวถึงการสำรวจทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ประเมิน ซึ่งท่านผู้ยื่นขอสินเชื่อก็ควรรู้เป็นหลักการไว้ก็ดีครับ เผื่อเอาไปปรับใช้กรณีที่เราอยาดกรู้ราคาประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเองครับ


แสดงความคิดเห็น

ทำไมต้องประเมินทรัพย์สิน


ทำไมต้องประเมินราคาทรัพย์สิน 



หลายคนที่กำลังจะยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีขั้นตอนตรวจสอบหลายๆอย่างที่ผู้ให้สินเชื่อต้องดำเนินการ เช่น ตรวจสอบรายได้ของผู้ยื่นขอสินเชื่อ ตรวจสอบเครดิตบูโร หรือตรวจสอบเรื่องอื่นๆ เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก็คือ "ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน"

ทำไมต้องประเมินราคาทรัพย์สิน  อันนี้ก็ประมาณว่าในการที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ หากจะมีการปล่อยสินเชื่อ หรือ บางครั้งก็เป็นในลักษณะของกลุ่มเงินทุนต่างๆที่มีผู้ถือหุ้นส่วนหลายๆหุ้นส่วนบางครั้งต้องการทราบมูลค่าของทรัพย์สินต่างๆที่เขาถืออยู่ ว่าน่าจะมีมูลค่าราคาตลาดประมาณเท่าไหร่เพื่อใช้ในการซื้อขาย หรือขอสินเชื่อ คราวนี้ก็จะงงอีกใช่ไหมครับว่า "มูลค่าตลาด" คืออะไร

" มูลค่าตลาด หรือ ราคาตลาด " หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินที่สามารถซื้อ ขาย ได้ในสภาวะตลาดปกติ ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดๆ เช่น ผู้ซื้อร้อนเงินอยากขายได้ไวๆ ก็จะลดราคาลง เพื่อเป็นแรงจูงใจกับผู้ซื้อ อันนี้ก็จะถือว่าไม่ใช่สภาวะปกติ หรือ ผู้มีบ้านหรือที่ดินอยู่แล้วอยากได้ที่ดินแปลงข้างมากๆเพื่อจะได้ขยายบ้านหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เลยมีความต้องการที่ดินหรือบ้านหลังนั้นมากๆ ยอมซื้อในราคาที่แพงกว่าราคาปกติทั่วไป อันนี้ก็ถือว่าไม่ปกติ เพราะการที่ผู้ซื้อหรือผู้ขายอยากได้มากๆ ก็จะมีการบิดเบือนราคามากกว่าปกติ เพราะหากเราขายหรือเราซื้อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เหมือนที่ยกตัวอย่างขึ้นมา เราก็อาจจะไม่ซื้อที่ดินหรือบ้านหลังนั้นๆใช่ไหมครับ ซึ่งบางครั้งหลายๆท่านสงสัยว่าทำไม ผู้ประเมินถึงไม่ให้ราคาเราตามที่เราซื้อ ถึงจะมีการซื้อขายจริงๆ จ่ายเงินจริงๆ  แต่อย่างที่บอกเพราะว่าการซื้อขายนั้นมีเงื่อนไขพิเศษ จึงถือว่าไม่ใช่ราคาตลาด ที่มีบุคคลอื่นยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อให้แพงกว่าปกติ หวังว่าท่านผู้อ่านน่าจะเข้าใจคำว่ามูลค่าตลาดพอสมควรแล้วนะครับ

คราวนี้หลังจากที่ผมเกริ่นมาคิดว่าคงเป็นเรื่องที่ยังคลางแคลงใจของใครอีกหลายคน รวมทั้งตัวคุณด้วยว่าทำไมต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยปกติทั่วไป เมื่อคุณยื่นขอกู้เงินกับธนาคาร จะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด ฯ ก็ต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สิน(ยกเว้น บางโครงการที่มีข้อตกลงเป็นพิเศษกับธนาคารไว้ก่อนแล้ว) และหลังประเมินแล้วจะมีผลอะไรบ้าง เมื่อคุณยื่นเรื่องขอกู้เงินกับธนาคาร เจ้าหน้าที่ธนาคารจะแจ้งให้คุณทราบว่าจะต้อง
มีการสำรวจและประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งคุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประเมินราคาทรัพย์สินในครั้งนี้ เพราะการกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย คุณจะต้องนำบ้านหรือที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ดังนั้น
ธนาคารจะต้องทราบมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ จะดูจากราคาขาย หรือสัญญาจะซื้อจะขายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะราคาขายที่แจ้งไว้อาจสูงหรือต่ำกว่าราคาตลาดที่เป็นจริงมากก็เป็นได้ (บางครั้งก็มีการเขียนสัญญาหลอกโดยมีการเตี้ยมกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เช่น ซื้อขายจริง อาจจะแค่ 1,000,000.- บาท แต่เขียนสัญญาว่าซื้อขาย 1,200,000.- เพื่อที่จะได้วงเงินสูงกว่าความเป็นจริง ผมเห็นแนะนำกันเยอะครับในกระทู้ต่างๆ) 

โดยทั่วไปการที่ธนาคารต้องประเมินราคาทรัพย์สิน ก็เพื่อ
- ช่วยในการกำหนดวงเงินให้สินเชื่อ เพราะโดยหลักการแล้ว ธนาคารจะให้คุณให้สินเชื่อเพื่อปล่อยกู้เงินได้ไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สิน ซึ่งปัจจุบันจะอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 70 - 100% ของมูลค่าประเมินทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สินนั้นด้วย (ทรัพย์สินนั้นจะต้องขายง่ายและได้ราคาสูง คุ้มค่าหนี้ค้างชำระ)

- เพื่อวิเคราะห์ทรัพย์สินและตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สินเอง เช่น ความถูกต้องของโฉนดที่ดินทำเลที่ตั้ง เช่นบ้านที่ยื่นกู้กับโฉนดที่ดินเป็นคนละแปลงกัน ทางเข้าออกสู่ถนนว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือทางส่วนบุคคล ถ้าเป็นทางส่วนบุคคล มีเงื่อนไขใดๆบ้าง ระบบสาธารณูปโภคและแนวโน้มราคาในอนาคตหากมีการขายทอดตลาด

- เพื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ว่ามีเงื่อนไขใดๆบ้าง (เช่นติดจำนอง, ติดสัญญาเช่า) หรือเอกสารสิทธ์นั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น

จริงๆก็ยังมีอีกหลายๆอย่าง ที่ยกตัวอย่างขึ้นมานี้ก็เป็นเพียงหลักๆที่ใช้ ปัจจุบันธนาคารหรือสถาบันการเงินทั่วไปจะจัดให้บริษัทประเมินค่าทรัพย์สินเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งคิดค่าดำเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยค่าประเมินก็มีตั้งแต่ ไม่กี่พันบาทขึ้นไป โดยปกติทั่วการประเมินทรัพย์สินสามารถดำเนินการได้โดยธนาคารเป็นฝ่ายส่งเรื่องให้บริษัทประเมิน หรือ ผู้ยื่นขอกู้เป็นฝ่ายเข้าไปติดต่อบริษัทเอง(แต่ปัจจุบันหลายๆสถาบันการเงิน จะเป็นผู้ส่งเรื่องให้แทนการติดต่อโดยตรงของผู้ยื่นขอสินเชื่อ)
เดี๋ยวครั้งต่อไปผมจะเขียนถึง การเตรียมตัวเมื่อเราต้องประเมินราคาทรัพย์สิน

แสดงความคิดเห็น
Copyright © 2014 Life Sabuy , คอนโดมิเนียม , คอนโด , ราคาประเมิน, ซื้อคอนโด, ราคาคอนโด, ขายคอนโด
www.lifesabuy.com